รู้จัก "คลอง D9" ความหวังจัดการน้ำเมืองเพชร

ภัยพิบัติ
9 ส.ค. 61
14:20
4,099
Logo Thai PBS
รู้จัก "คลอง D9" ความหวังจัดการน้ำเมืองเพชร
กรมชลประทาน เร่งขยายทางระบายน้ำเชื่อมคลองชลประทานสาย 3 ผันน้ำลัดเข้าคลอง D9 ส่งน้ำลงอ่าวไทย ตามแนวพระราชดำริ คาดหากสำเร็จจะช่วยระบายน้ำได้กว่า 7 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

วันนี้ (9 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนใน จ.เพชรบุรีได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ่อยครั้งจากอิทธิพลของพายุดีเพรสชั่น พายุโซนร้อน หรือหย่อมความกดอากาศต่ำพัดผ่าน ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากจากแม่น้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประจันต์ และห้วยผาก โดยน้ำส่วนที่เกินกว่าที่แม่น้ำเพชรบุรีจะรับไว้ได้จะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร


16 ปี เมืองเพชรรับน้ำท่วม 7 ครั้ง

หากปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่ระบายน้ำจากเขื่อนเพชรมากกว่า 400-500 ลบ.ม.วินาทีขึ้นไปจะเกิดอุทกภัยขึ้น จากสถิติอุทกภัยที่เกิดขึ้นใน จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2530-2546 มีอุทกภัยเกิดขึ้นรวม 7 ครั้ง คือเมื่อปี 2531, 2535, 2538, 2539, 2540, 2541 และ 2546 โดยเกิดอุทกภัยหนักและรุนแรงมากในปี 2539 มีปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำเพชรบุรีระบายผ่านเขื่อนเพชร 1,250 ลบ.ม.วินาที, ปี 2540 มีปริมาณ 1,228 ลบ.ม.วินาที และ ปี 2546 มีปริมาณ 1,430 ลบ.ม.วินาที


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงเล็งเห็นถึงปัญหาอุทกภัยและความเดือดร้อนของราษฎร โดยมีพระราชดำริ กับนายชลิต ดำรงศักดิ์ วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2546 ให้กรมชลประทานพิจารณาปรับปรุงคลองชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี  ซึ่งทำหน้าที่เป็นคลองส่งน้ำให้เป็นคลองระบายน้ำได้เมื่อเกิดอุทกภัย


...เรื่องวิธีปราบน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง...ที่เขื่อนเพชร เขื่อนเพชรนั้นรับน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี แล้วก็ยกระดับน้ำขึ้น นี้เป็นวิชาการชลประทาน ยกระดับน้ำขึ้นสำหรับดันให้เข้าไปในคลองส่งน้ำ...ในคลองซึ่งส่งไปที่ที่ทำการเพาะปลูก แต่ตอนนี้น้ำมันมาก ไอ้คลองนั้นจะต้องเป็นคลองระบายน้ำ...ที่เพชรบุรีไม่มีคลองระบายน้ำและก็ไม่มีประตูควบคุมน้ำ ประตูกั้นน้ำทั้งนั้นก็เลยทำให้วุ่นวาย...

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 5 ธ.ค.2546

สานต่อพระราชดำริ ความหวังจัดการน้ำด้วยคลอง D9

เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรีกรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยการขุดลอกคลองส่งน้ำ D9 ตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดเพชรบุรี ปี 2547 เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำให้สามารถไหลลงทะเลได้รวดเร็ว และสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มีมากขึ้นป้องกันอุทกภัยในเขตจังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ 78,747 ไร่ 


ขณะที่ จ.เพชรบุรี เผชิญปัญหาอุทกภัยอีกครั้ง หลังน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 20 ก.ค. วันเดียวเกือบ 160 ล้าน ลบ.ม. จนน้ำล้นสปิลเวย์ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เครื่องมืออย่าง "กาลักน้ำ" เครื่องปั๊ม เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเพชรบุรี น้ำจะไหลจากเขื่อนแก่งกระจานไปยังเขื่อนเพชร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วมใน อ.เมืองเพชรบุรี วิธี "ตัดยอดน้ำ" เหนือเขื่อนเพชร จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับชาวเมืองเพชร

ทางลัดส่งน้ำลงทะเล รับมือน้ำท่วมเมืองเพชร

การตัดน้ำออกทาง "คลองชลประทาน" ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา และขยายทางระบายน้ำสู่ลำน้ำธรรมชาติ "คลอง D9" ซึ่งกรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการในแผนจัดการน้ำ เพื่อแบ่งรับน้ำส่วนหนึ่งจากคลองชลประทานสาย 3 และหน่วงน้ำหน้าเขื่อนเพชร ต.ท่าคอย เมื่อน้ำถูกผันลัดเข้าสู่คลอง D9 จะไหลลงทะเลอ่าวไทย ระยะทางน้ำประมาณ 20 กิโลเมตร


กรมชลประทานและทหารคาดว่า หากขยายคลองระหารบอน ให้ได้ความกว้าง 11 เมตร ลึก 2.5 เมตร เพื่อเชื่อมทางระบายน้ำตั้งแต่คลองชลประทานสาย 3 ถึงคลอง D9 ได้สำเร็จ การระบายน้ำจุดนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 55 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 90 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือคิดเป็นน้ำ 7,776,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยขณะนี้คลอง D9 ทำให้สถานการณ์น้ำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมคาดการณ์ว่าน้ำจะเต็มตลิ่ง อ.เมืองเพชรบุรี เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา แต่ขณะนี้น้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 1 เมตรเช่นเดียวกับจุดเฝ้าระวังอีก 5 อำเภอ ที่น้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง


ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรียังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่น้ำจะไหลเข้าท่วมตัวเมืองเพชรบุรี ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ โดยปัจจัยที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม คือ 1.คือปริมาณน้ำที่มาจาก "เขื่อนแก่งกระจาน" ที่มีน้ำไหลมาจากแนวทาง "เทือกเขาตะนาวศรี" อุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน 2.การระบายน้ำ ถ้าตัดยอดน้ำออกคลอง D9 สำเร็จ ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่หน้ามรสุมจริงตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง