ลุ้น คปภ.พิจารณาเบี้ยประกันเด็ก หวั่นผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่ม

สังคม
16 ส.ค. 61
17:41
842
Logo Thai PBS
ลุ้น คปภ.พิจารณาเบี้ยประกันเด็ก หวั่นผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่ม
ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อยู่ระหว่างการยื่นขอปรับขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพให้ คปภ.พิจารณา โดยระบุว่าค่าเบี้ยไม่คุ้มกับการเคลมประกัน เรื่องนี้มีประเด็นใดที่ต้องพิจารณาบ้าง และมีความเหมาะสมกับการขอปรับค่าเบี้ยหรือไม่

วันนี้ (15 ส.ค.2561) ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยพีบีเอสรายงานว่า ปลายเดือนสิงหาคม 2561 ตัวแทนบริษัทประกันจะชี้แจงความจำเป็นขอปรับเบี้ยประกันสุขภาพ ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถ้า คปภ.อนุมัติหมายถึงลูกค้าต้องควักเงินจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น

เหตุผลที่สมาคมประกันชีวิต สมาคมประกันวินาศภัย อ้างเพื่อขอปรับเบี้ยสุขภาพเพิ่มขึ้น คือ ประกันสุขภาพ ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของตลาดประกันชีวิต 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดเคลมต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ อาจเกิดจากโรคใหม่ๆ เช่น อาร์เอสวี ในตระกูลปอดอักเสบ โรคมือเท้าปาก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ

อัตราเคลมสูงทำให้เบี้ยประกันไม่ครอบคลุมการเสี่ยงขาดทุน จนอาจต้องยกเลิกขายประกันสุขภาพเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี บางส่วนก็ขอตรวจสอบว่าตัวแทนประกันมีปัญหาการเคลมหรือไม่ เช่น หาทางให้ผู้เอาประกันเคลมได้ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามแผนประกัน

แม้ทาง คปภ.ยังไม่ได้ให้คำตอบ โดยบอกให้ 2 สมาคมไปรวบรวมข้อมูลสถิติย้อนหลังความคุ้มครองแต่ละหมวดของแบบประกันสุขภาพอย่างน้อย 5 ปี รวมถึงข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ แล้วค่อยมาพิจารณาปรับ
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอาจต้องผนวกข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นกับการซื้อประกันสุขภาพไปพิจารณาด้วย เช่นกรณีนี้

“แม่ที่ซื้อประกันให้ลูกในอัตรเบี้ย 5 หมื่นบาท ปีหน้าถูกแจ้งว่าเบี้ยจะปรับขึ้น 4 หมื่นบาท เพราะบริษัทประกันต้องการยกเลิกแผนประกันแบบที่ถืออยู่ เป็นการบีบบังคับให้เปลี่ยนแผนประกัน จากแผนเดิมเคยประกันค่าห้องโรงพยาบาล ไม่เกิน 5,200 บาท แต่แผนใหม่ถ้าจ่ายเบี้ยเท่าเดิม ค่าห้องเหลือ 1,000 บาท”

คปภ.อาจต้องนำประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ แม้การประกันสุขภาพ เป็นประกันปีต่อปี บริษัทประกันจะไม่ขายปีต่อไปก็ไม่ผิด แต่มีผลต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน

เมื่อมองเหตุผลที่บริษัทประกันขอปรับเบี้ยขึ้น แม้จะอ้างโรคใหม่ๆ ที่ทำให้การเคลมประกันสูงขึ้น แต่วิธีการรักษาโรคเหล่านี้คือ การบรรเทาอาการและเฝ้าระวัง ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ทำการรักษา บริษัทประกันอาจต้องพิจารณาการบริหารจัดการของตัวเองว่าได้ตรวจสอบหรือยังว่า ค่ารักษาที่แพงขึ้น เป็นเพราะการชาร์จจากโรงพยาบาลแพงขึ้นด้วยหรือไม่ บริษัทประกันยินยอม หรือ เข้าไปต่อรองอย่างใดแล้วหรือยัง รวมถึงข้อสังเกตที่ว่าตัวแทนประกันอาจมีส่วนช่วยให้ลูกค้าเคลมประกันเพิ่ม นอกเหนือจากสัญญาหรือมากกว่าความจำเป็น บริษัทประกันตรวจสอบแก้ไขมากน้อยเพียงใด

เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาสร้างบรรยากาศการแข่งขัน เช่น อาจให้สถานพยาบาลรัฐขนาดกลางหลายๆ แห่ง ทำรูปแบบเอกชนที่ไม่คิดราคาแพงเกินไป ให้ประชาชนมีทางเลือก เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางออก
ประกันสุขภาพเป็นที่ต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงต้นปีไตรมาสแรก ประกันสุขภาพ เพิ่มขึ้นทั้งจากบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ด้วยเปอร์เซ็นต์สองหลัก รวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ปีนี้ทั้งปีน่าจะเติบโตได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุยอดเคลมสูง เกิดจากปัญหาบริษัทประกันเอง หรือโรงพยาบาลเรียกเก็บแพง แล้วจะมาเรียกเก็บเบี้ยประกันเพิ่มจากลูกค้า ก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก ปล่อยโรงพยาบาลคิดแพง ประกันแก้ปัญหาเอง รัฐไม่ทำอะไร ท้ายสุดปัญหาก็กลับมาที่ประชาชน

 

พิมพิมล ปัญญานะ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส  

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ประกันขอ “เพิ่มเบี้ย” ประกันเด็ก ยอดเคลมพุ่งปีละ 6 หมื่นล้านบาท

เด็กป่วยระนาว กรมควบคุมโรคชี้ยังไม่วิกฤต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง