"Kebap crisis" วิกฤตจานใหญ่กว่า...ต้มยำกุ้ง

เศรษฐกิจ
16 ส.ค. 61
18:34
1,691
Logo Thai PBS
"Kebap crisis"  วิกฤตจานใหญ่กว่า...ต้มยำกุ้ง
การเมืองระหว่างประเทศ - ปัญหาเศรษฐกิจภายใน ซ้ำเติม ตุรกี ให้ประสบภาวะวิกฤติอย่าง ความกังวลเกิดขึ้นทั่วโลก หวั่นวิกฤตินี้ลุกลามบานปลาย และส่งผลถึงไทยในแบบใด

ปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้ง ทั่วโลก เรียกตามอาหารที่ขึ้นชื่อของไทย แต่เวลานี้ทั่วโลกกำลังจับตา วิกฤติเศรษฐกิจที่ตุรกี ขอเรียกเป็น เคบับ ไครซิส หนึ่งในอาหารประจำชาติ ตามคุณบรรยง พงษ์พานิชหรือ บางคนเรียกก่อนหน้านี้ว่า วิกฤติไก่งวง ที่จะต้องมองกันคือ ตุรกีจะไปรอดหรือไม่ 

เกิดอะไรขึ้นกับตุรกี?

ตุรกีเผชิญปัญหาสองด้าน ทั้งเชิงการเมือง ด้วยความไม่ลงรอยกับสหรัฐฯ โยงถึงการตอบโต้การค้า ในอีกด้านปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจตุรกีเองกำลังย่ำแย่อย่างหนัก เศรษฐกิจตุรกีคล้ายประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือ เงินไหลเข้ามากช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เงินไหลเข้าส่วนใหญ่คือการกู้ยืมต่างประเทศระยะสั้น ไม่ใช่เงินลงทุนสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

 

 

หนี้ต่างประเทศตุรกีสูงกว่า 50 % ของจีดีพี แต่เงินที่มีไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจ ตุรกีขาดดุลบัญชีการค้าดุลบัญชีการลงทุน ส่งออกน้อยกว่านำเข้า เงินมากในประเทศแต่ด้อยค่าลงเงินเฟ้อ 11 % บางสำนักระบุว่า 17% ตัวเลขไม่นิ่ง เพราะสถานะแย่ลงเรื่อยๆ

วันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น..เงินไหลออกอย่างรวดเร็ว จนเงินลีร่าอ่อนค่าลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่เดือน ซึ่งหมายถึง เงินกู้จากต่างประเทศกลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเกือบเท่าตัว แต่จีดีพียังร้อนแรง 7%

 

 

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ นายนณริฏ พิศลยบุตร มองว่า นั่นเป็นความคล้ายกับวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ที่ตุรกีแตกต่างและแย่กว่า คือตุรกีต้องนำเข้าน้ำมันจำนวนมากในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น รายจ่ายยิ่งสูงขึ้นประกอบกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากภูมิศาสตร์ตุรกีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างยุโรป ตะวัน ออกกลาง ตุรกีย่อมต้องเลือกข้าง และตุรกีเลือกที่จะซบอกรัสเซีย ผนวกกับการเผชิญหน้าหลายเหตุการณ์ ตุรกีถูกจัดเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐไปโดยปริยาย

ผลกระทบเบื้องต้น ธนาคารในยุโรปบางแห่งที่มีหุ้นในธนาคารตุรกีต้องเร่งหาทางป้องกัน และแก้ปัญหา ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน ตอบรับความกังวลว่าวิกฤตินี้จะลุกลามบานปลาย แต่ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มองว่าปัญหาตุรกีไม่ลุกลามเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง 

วิกฤติต้มยำกุ้ง..ในครั้งนั้นความไม่เชื่อมั่นทำให้นักลงทุนดึงเงินกลับทั้งหมด แต่ปัจจุบันการลงทุนแยกส่วนแยกพื้นที่ไม่เหมารวมทั้งภูมิภาค ปัญหาตุรกีไม่น่าจะลุกลามบานปลาย

 

 

บางคนเปรียบว่า เคบับ ไครซิส คือ ต้มยำกุ้งไครซิส ภาค 2 เป็นเพราะต้นตอวิกฤติเกิดจากการเงินเหมือนกัน แม้ประเมินว่าอาจไม่ลุกลามเหมือนต้มยำกุ้ง แต่ต้มยำกุ้ง ไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ให้เงินกู้ บังคับให้ชะลอความร้อนแรงเศรษฐกิจ แต่หนนี้นอกจาก สหรัฐฯ ไม่ยื่นมือช่วยแล้ว ยังซ้ำเติมตุรกี ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีเหล็ก และอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่าจากกำแพงภาษีตั้งขึ้น 25% กับ 10% ทบทวีคูณเป็น 50% กับ 20%

ตุรกี จะรอด...ไม่รอด

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิภัทร บอกว่า การเลือกข้างมาทางรัสเซีย อาจไม่ใช่ทางออก เพราะขนาดเศรษฐกิจรัสเซียใหญ่กว่าตุรกีแค่หนึ่งเท่ากว่าๆ แถมรัสเซียยังต้องประคองตัวเองเหมือนกัน อาจต้องหันไปพึ่งพาจีนจะไปรอดมากกว่า

 

 

ไทยติดร่างแหแบบไหน

ปีที่ผ่านมา ตุรกีถูกจัดเป็นคู่ค้าอันดับ 36 ของไทย หรืออันดับ 4 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มูลค่าการค้าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ ไทยได้ดุลการค้า เพราะส่งออกมากกว่า

ถ้าจะมีผลกระทบการค้า ไทยกับ ตุรกี ผู้ค้าโดยตรงในสินค้าเหล่านี้ที่ส่งออกไปตุรกี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ ยางพารา เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ก็จะได้รับผลกระทบ

 

ส่วนบางอย่างที่นำเข้ามาคือ เครื่องจักรกล เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้า

เคบับ ไครซิส ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่ายังอยู่ในวงจำกัด ไทยอาจไม่ได้รับผลรุนแรงมากนัก..แต่วิกฤติครั้งใดก็ยังต้องจับตา


พิมพิมล ปัญญานะ @pim_punyana

ข่าวที่เกี่ยวข้อง