โอกาส ความหวัง "สุราชุมชนไทย"

เศรษฐกิจ
18 ส.ค. 61
10:17
8,612
Logo Thai PBS
โอกาส ความหวัง "สุราชุมชนไทย"
ข้อถกเถียงเรื่องสุราพื้นบ้านมี 2 มุมมาตลอด มุมหนึ่งก็คือ สุราพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาน่าจะมีเสรีในการทำเพื่อกินหรือจำหน่าย แต่อีกมุมในด้านกฎหมาย ก็ต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้วย หัวข้อที่เราตั้งกันไว้ว่า สุราพื้นบ้านไร้อนาคต คงจะไม่เกินจริง

ปัญหาหลายด้านโดยหลัก จะเป็นปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในการพัฒนาสุราชุมชน สินค้าที่ผลิตออกมาก็เป็นกระบวนการทำแบบชาวบ้าน การขายให้มีรายรับที่ดีจึงค่อนข้างยาก รวมถึงการไม่เป็นที่รู้จักและในทางกลับการสนับสนุนที่หากมากเกินไปมากก็สวนทางกับการรักษาสุขภาพ

ในอดีต รัฐบาลมีนโยบายผูกขาดการผลิตสุรา ต่อมารัฐโอนอำนาจผูกขาดการผลิตและการขายสุราให้เอกชน โดยรัฐได้รับผลตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของเอกชนผู้รับสัมปทาน จึงมีการเรียกร้องให้เปิดเสรีการผลิตสุรามากขึ้น แต่กฎหมายที่ถูกปรับปรุง ยังถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่

 

 

จนกระทั่ง มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีบริหารงานสุรา พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 3) อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสุราแช่ชุมชนอย่างเสรี และ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีบริหารงาน สุรา พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นชุมชนอย่างเสรี แต่ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต โดย ประกาศ ทั้ง 2 ฉบับกำหนดเงื่อนไขที่ง่ายขึ้น

 

 

ทำให้ปี 2545 - 2548 ช่วงแรกของประกาศ มีผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชุมชนทั้งหมด 1,970 ราย และ มีผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชนทั้งหมด 6,116 ราย

 

 

สุรากลั่นชุมชน คือ สุราขาวที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 28 - 40 ดีกรี มีปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ไม่เกินมาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด สุราแช่ชุมชน หมายความว่า สุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่น นอกจากเบียร์

 

 

ผู้ผลิตที่จะได้รับอนุญาต ต้องเป็น สหกรณ์ , นิติบุคคล ,วิสาหกิจชุมชน , กลุ่มเกษตรกร ,หรือองค์กรเกษตรกร สถานที่ผลิตก็ต้องได้มาตรฐานที่กำหนด เช่น แยกออกจากที่อยู่อาศัยชัดเจน ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน อยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะ

 

 

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า สุราชุมชน เป็นเหมือนการผลิตกันเอง ซึ่งมาตรฐานมักจะมีข้อจำกัดเช่น บางกรณีไปใส่ถังสีฟ้า แล้วมีสารปนเปื้อนก็จะทำให้มีโทษต่อผู้บริโภค มันต้องยกระดับมาตรฐาน และผลักดันอยู่

จากตัวเลขที่จดทะเบียนกับกรมสรรพสามิตพบว่า ปัจจุบัน มีผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนประมาณ 2,000 คน สุราแช่ชุมชน 3,000 คน แต่ปัจจุบัน ยังพบปัญหาเรื่องมาตรฐานสินค้า โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ ผลิตตามกระแสมากกว่าการผลิตแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน และผู้ผลิตที่มีทุนน้อยบางส่วนไม่ได้คุณภาพ ส่วนการออกกฎหมายต่างๆ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตรายใหญ่

ภาษีของสุราชุมชนต่ำกว่าเหล้าขาว หรือ เหล้าโรงซึ่งถูกมากเสียภาษี ปริมาณ 1 ลิตรเสียไม่ถึง 10 บาท ขณะที่โรงใหญ่ที่เป็นสุรากลั่นจะเสียภาษีถึง 20-30 บาทแล้วแต่ประเภทหรือชนิด

นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมผู้ผลิตไวน์ และสุราพื้นบ้านไทย ระบุว่า หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตผลิตสุราพื้นบ้าน แม้ไม่ยุ่งยากมากนัก เพียงแต่ต้องมีโรงเรือนที่ชัดเจน และต้องจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ วิสาหกิจชุมชน แต่ยอมรับว่ายัง มีผู้ผลิตไม่มาก ทำให้กลุ่มจำหน่ายหลักยังเป็นของกลุ่มทุนใหญ่ ขณะที่ต้นทุนในการทำสุราแช่พื้นบ้านไม่สูงมากนัก ปกติอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อขวด แต่เมื่อรวมกับภาษี 12 บาท และต้นทุนอื่นๆ ก็จะจำหน่ายอยู่ที่ 30-40 บาทต่อขวด


มีผู้ผลิตน้อยรายมากที่ทำสาโทขายใส่ขวดขาย ที่อยู่ได้ มีไม่กี่ราย ปัญหาคือเทคโนโลยีที่จะทำให้เก็บได้นาน ตลาดความนิยมไม่เยอะชาวบ้านก็จะทำและขายกันเองในเวลามีงานก็นำไปดื่มในงาน

 

แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตลาดไม่เติบโต คือ การตลาด และระยะเวลาในการจัดเก็บที่ไม่นาน ส่งผลให้ระยะเวลาในการวางจำหน่ายมีไม่มากเท่ากับสุรากลั่นหรือเบียร์ที่จำหน่ายกัน สุราแช่ชุมชน จึงกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มและใช้ในท้องถิ่น มากกกว่าการจำหน่ายที่แพร่หลาย โดยทุกวันนี้ ในกลุ่มสุราแช่ทั้งหมด ยังคงเหลือเพียงไวน์ที่เป็นกลุ่มตลาดหลัก ส่วน สาโท อุ กระแช่ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก

สุราชุมชนเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เหมือน เบียร์ หรือ ไวน์ ที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่เป็นของตัวเอง แต่ที่ผ่านมา สุราพื้นบ้านในไทยเป็นการผลิตแบบชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้หรือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เหมือนระดับอุตสาหกรรมจึงส่งผลให้ทำตลาดยาก เมื่อคนไม่รู้จัก ก็ขายไม่ได้ ไม่มีเงิน กลายเป็นวงจร แต่อีกด้านหนึ่ง สินค้าประเภทนี้มีผลต่อสุขภาพ การพัฒนาก็อาจทำได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากแพร่หลายมาก ก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหาแทน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง