คนป่วย “เนื้อเน่า” พุ่ง สารเคมีปัจจัยเสี่ยง?

สังคม
20 ส.ค. 61
14:05
4,073
Logo Thai PBS
คนป่วย “เนื้อเน่า” พุ่ง สารเคมีปัจจัยเสี่ยง?
สาธารณสุขหนองบัวลำภู ชี้โรคเนื้อเน่ามีแนวโน้มดีขึ้น สถิติปี 61 ลดลงเหลือ 68 คนเสียชีวิต 2 คน ปัจจัยเสี่ยงมาจากเชื้อแบคทีเรียในดินน้ำ สารเคมีการเกษตร เร่งหาความเชื่อมโยงด้วยการเพาะเชื้อจากแผลหาคำตอบต้นเหตุของโรคที่แท้จริง

วันนี้ (20 ส.ค.2561) นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู กล่าวถึงแนวโน้มการเกิดโรคเนื้อเน่าของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจ.หนองบัวลำภูว่า ภาพรวมคนเจ็บป่วยด้วยโรคเนื้อเน่า มีจำนวนลดลงโดยปี 2561(ส.ค.) พบผู้ป่วย 68 คนเสียชีวิต 2 คน ตัดขา 1 คน เทียบกับสถิติย้อนหลังช่วงปี 2557 จำนวน 137 คน เสียชีวิต 7 คน ปี 2558 จำนวน 122 คน เสียชีวิต 7 คนปี 2559 จำนวน 105 คน เสียชีวิต 6 คน

นพ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคเนื้อเน่าในพื้นที่หนองบัวลำภู มีข้อสังเกตว่าปัจจัยเชื่อมโยงอาจมาจากการใช้สารเคมีการเกษตร โดยเฉพาะสารพาราควอตที่ชาวบ้านใช้ อีกทั้งกลุ่มที่พบป่วยโรคเนื้อเน่ามักพบในช่วงอายุ 51-70 ปี และมักมีอาการของโรคเบาหวาน และมีการใช้ยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย ขณะที่พบอีกว่าคนเสียชีวิตมักจะเข้ารับการรักษาช้า และส่วนใหญ่มีอาการมากแผลลุกลามจากแบคทีเรียกินเนื้อทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด

โรคเนื้อเน่าถือว่าน่ากลัว ผู้ป่วยมักจะดูไม่ออกจากบาดแผลเล็กๆ ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่ออาการผิวหนังเริ่มบวมตาย ตุ่มน้ำพอง เสียเลือด ซึ่งหมายถึงผิวหนังเริ่มตายและเชื้อเริ่มกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ทำให้การรักษายาก ต้องผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายทิ้ง

 

นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู

นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู

นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู


เร่งสอบสวนโรคเนื้อเน่าเชิงลึก

ด้าน นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของปี 2561 มีคนป่วยทั้งจังหวัด 142 คน ลดลงจากปีก่อนที่มี 254 คน สาเหตุที่ลดลงมาจากการรณรงค์ให้ชาวบ้านให้ความรู้ในการป้องกันตัวเอง ลดการสัมผัสน้ำในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มคนมีบาดแผลที่จะไปสัมผัสน้ำ ดินที่อาจมีเชื้อแบคทีเรีย หรือบ่อน้ำที่อาจจะมีสารเคมีตกค้าง

เมื่อถามว่าปัจจัยรับสารเคมีการเกษตร หรือติดเชื้อตามธรรมชาติจะมีความเสี่ยงมากกว่า นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า อาจสรุปเบื้องต้นว่ามาจากปัจจัยร่วมกันทั้งจากใช้สารเคมี มีบาดแผลไปสัมผัสเชื้อ และกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน กลุ่มคนสูงอายุ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอัตราสูงกว่าภาคอื่นๆ 

 

 

ยอมรับว่ายังไม่สรุปได้ชัดเจนว่าการเกิดโรคเนื้อเน่ามีความสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีการเกษตร หรือ พาราควอต โดยตรงหรือไม่

ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนเชิงลึกด้วยการเพาะเชื้อเน่าของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลว่ามาจากแหล่งพบสารเคมี หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียในดิน ในน้ำ ซึ่งจะหาคำตอบว่าเป็นสาเหตุของโรคนี้โดยตรงหรือไม่ แต่เบื้องต้นการป้องกันและลดโรคนี้คือพยายามรณรงค์ให้ลด ละ เลิกสารเคมีในพื้นที่เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ (21 ส.ค.) นายธนากร อึ้งจิตไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูได้จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเชิญ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิทยานุกูล นักวิจัยในโครงการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นผู้เริ่มศึกษาสารเคมีตกค้างทางการเกษตรในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยเฉพาะกรณีโรคเนื้อเน่า

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

เกษตรกรใน จ.หนองบัวลำภู กว่า 120 คน ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า

 

แพทย์ชี้แบคทีเรียต้นตอ "เนื้อเน่า" ปวดบวมแดงร้อนก่อนเชื้อลามเข้าเลือดเสียชีวิต

 

“พาราควอต” จากสายสะดือสู่ทารก เสี่ยงเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า

 

"กฤษฎา"รับข้อเสนอแบนพาราควอต ตั้งกก.ร่วมพิจารณา 60 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง