วิกฤต! เขื่อนทั่วไทย 7 วัน น้ำเข้า 2.6 พันล้าน ลบ.ม.

ภัยพิบัติ
21 ส.ค. 61
10:51
3,071
Logo Thai PBS
วิกฤต!  เขื่อนทั่วไทย 7 วัน น้ำเข้า 2.6 พันล้าน ลบ.ม.
อิทธิพลจากพายุเบบินคา และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำพุ่งสูงถึง 2,676 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงเวลา 7 วัน โดยเฉพาะภาคตะวันตกมีน้ำไหลเข้าสูงสุด 1,062 ล้าน ลบ.ม.

วันนี้ (21 ส.ค.2561) ฝนที่ตกหนักในพื้นที่เขตเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานจำนวนมาก และส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้รายงานสถานการณ์น้ำใน เขื่อนแก่งกระจานว่า มีปริมาณน้ำรวม 777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% ของความจุอ่าง ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำล้นสปิลล์เวย์มากกว่า 160 ซม.


ขณะที่ชาวจังหวัดเพชรบุรีต่างเตรียมรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น หลังปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทางจังหวัดเตรียมปรับแผนการระบายน้ำหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำไหลลงเขื่อนจำนวนมาก โดยเขื่อนแก่งกระจานเปิดระบายน้ำ 272.10 ลบ.ม./วินาที ทำให้มีน้ำที่ไหลล้นสปิลล์เวย์และไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีบริเวณท้ายเขื่อนแก่งกระจาน ส่งผลน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่ง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานถึงเขื่อนเพชร ระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของรีสอร์ต 

สทนช.เฝ้าระวังเขื่อน 5 แห่ง มีปริมาณน้ำมาก 

ด้านนายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ยังต้องเฝ้าระวัง ล่าสุด พบ 5 แห่ง คือ

  1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำหรือสปีลเวย์ สูง 1.41 เมตร
  2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปัจจุบันปริมาณน้ำ 528 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101%
  3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,984 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90%
  4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86%
  5. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 330 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84%


ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวน 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มีปริมาณน้ำคิดเป็น 87% และ อ่างเก็บน้ำคีรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ คิดเป็น 100% โดยมีผลพวงจากพายุเบบินคาและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าอ่างฯ สะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-19 ส.ค. มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 2,676 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดที่ภาคตะวันตก 1,062 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ภาคเหนือ 627 ล้าน ลบ.ม.  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 256 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 119 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 61 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 549 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง