"ขอนแก่นโมเดล" ผลักดันผู้พิการเข้าตลาดแรงงานอย่างยั่งยืน

สังคม
23 ส.ค. 61
16:09
474
Logo Thai PBS
"ขอนแก่นโมเดล" ผลักดันผู้พิการเข้าตลาดแรงงานอย่างยั่งยืน
“พล.อ.ฉัตรชัย” ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ “ชุมชนร่วมใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ชี้ขอนแก่นโมเดลดันผู้พิการเข้าตลาดแรงงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

วันนี้ (22 ส.ค.2561) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน “พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ชุมชนร่วมใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ หรือศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

 

พล.อ.ฉัตรชัย ระบุว่า ปัญหาหลายเรื่องของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การคิดอย่างไม่เป็นระบบ เมื่อมีการให้ความช่วยเหลือผู้พิการในเรื่องงบประมาณ แต่ไม่ได้วางแผนสร้างตลาดให้จึงทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ แต่เมื่อได้ลงมาตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบทำให้รู้สึกชื่นชมมาก

ดังนั้น เมื่อเริ่มคิด เริ่มทำ ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ วันนี้การให้พื้นที่เพื่อพัฒนาผู้พิการให้สามารถทำงานได้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สุดท้ายต้องรู้ด้วยว่าเขาจะอยู่ได้อย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน โดยจะต้องดำเนินการตามนโยบายที่ว่าพวกเราจะไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง เดินไปด้วยกัน เพราะพวกเราคือคนไทยด้วยกัน

 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สสส.สันบสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายคนพิการ และพัฒนาศูนย์เรียนรู้คนพิการด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จ.ขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และภาคีเครือข่ายคนพิการ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้พิการ ลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในกระบวนการจ้างงานผู้พิการ การ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงอาชีพและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

 

เดินหน้า! จ้างงานในหน่วยงานรัฐ-ส่งเสริมอาชีพอิสระ

ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการสร้างอาชีพเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกด้าน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสุข และมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่งานหรืออาชีพนั้นๆ ต้องสอดคล้องกับบริบทของผู้พิการที่อยู่นอกเขตเมือง เนื่องจากผู้พิการที่ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงานได้ จึงเน้นการจ้างงานในเขตพื้นที่ที่พักอาศัย อย่างในเขต อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเกือบ 1,800 โครงการ ได้มีการจ้างงานผู้พิการให้ประจำในโรงพยาบาลอุบลรัตน์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่ว อ.อุบลรัตน์ เป็นโมเดลที่ให้งานตามความสามารถและบริบทที่เหมาะสมกับผู้พิการ

โมเดลการดำเนินงานของ จ.ขอนแก่นนี้ จะเป็นต้นแบบในการเดินหน้าและขยายผลไปสู่การจ้างงานในพื้นที่อื่นๆ และเป็นการสนับสนุนอาชีพผู้พิการตามแนวทางประชารัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 50 ของผู้พิการทั่วประเทศ ภายในปี 2562 นี้

ม.33, ม.35 รัฐ-เอกชนจับมือสร้างอาชีพ

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า สสส.ได้ประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่ 1,773 หน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในรูปแบบประชารัฐดูแลผู้พิการ ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จในการจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และ 35 ในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนเอกชนที่เริ่มเห็นถึงความสำคัญในการจ้างงานผู้พิการเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังเกิดโครงการสำคัญ อย่าง ศูนย์ล้อไม้คนพิการบ้านทรัพย์สมบูรณ์ โดยสนับสนุนผู้พิการที่มีศักยภาพในการผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ พร้อมจัดตั้งร้านค้า เพื่อสร้างตลาดให้ผู้พิการได้จำหน่ายสินค้าที่ผลิตอย่างครบวงจร ทั้งนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อนำสินค้าเหล่านี้ไปจัดเป็นของที่ระลึกเพื่อใช้ในงานสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย

รพ.อุบลรัตน์ นำร่องสร้างอาชีพ-ดันเพาะพันธุ์ต้นไม้หวงห้าม 58 ชนิด

นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ และประธานมูลนิธิ ระบุว่า โรงพยาบาลอุบลรัตน์ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องในโครงการโรงพยาบาลประชารัฐ และได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพผู้พิการ ตามมาตรา 35 โดยตั้งแต่ปลายปี 2559 ได้จ้างงานผู้พิการ 12 คน ได้เข้ามาดูแลทำความสะอาดตึกพยาบาลแห่งใหม่เพื่อเตรียมเปิดให้บริการ

ต่อมาได้รับผู้พิการเพิ่มเรื่อยๆ แต่งานทำความสะอาดก็มีคนทำเยอะแล้ว จึงได้สอบถามความสามารถของแต่ละคนโดยคนหนึ่งสามารถตัดผมได้ก็เปิดพื้นที่ให้ได้ตัดผมในโรงพยาบาล บางคนนวดเป็นก็ให้โอกาสได้นวดตามที่เขาถนัด เขาก็มีความสุข มารายได้มั่นคงเพราะเราให้เป็นเงินเดือน

 

นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้ผู้พิการปลูกผักปลอดสารพิษ และเพาะกล้าไม้ เพาะหน่อไผ่ ปลูกต้นยางนา ต้นสะเดา ต้นขี้เหล็ก ต้นสัก เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ผู้พิการเริ่มศึกษาการเพาะพันธุ์ไม้หวงห้าม 58 ชนิด หลังมีการประกาศเตรียมปรับแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่จะสามารถปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อตัดจำหน่าย จึงเป็นโอกาสของผู้พิการที่จะเลือกปลูกไม้มูลค่าสูงได้ 

 

ขณะที่นายนพดล  พิมภีระพงษ์ หนึ่งในผู้พิการ เล่าว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ที่บ้าน เก็บผัก หาปลาสร้างรายได้แต่ไม่มั่นคง ทั้งยังต้องหาเลี้ยงลูกเล็กอีก 2 คน เมื่อโรงพยาบาลอุบลรัตน์ให้โอกาสได้มาทำงานก็ทำให้มีรายได้มั่นคง เดือนละ 9,125 บาท รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่เป็นอย่างมาก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง