ห่วงเกษตรกรรายย่อยตกขบวน "ปลูกไม้" ประกันหนี้

สิ่งแวดล้อม
23 ส.ค. 61
12:30
1,476
Logo Thai PBS
ห่วงเกษตรกรรายย่อยตกขบวน "ปลูกไม้" ประกันหนี้
นักวิชาการห่วงเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินเอกสารสิทธิ์ อาจไม่ได้ประโยชน์จากโครงการปลูกต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมเสนอให้มีคณะกรรมการกลางประเมินมูลค่าไม้เพื่อความเป็นธรรม ด้านกระทรวงพาณิชย์คาดจะประกาศใช้ 1-2 เดือน ยืนยันไม่จำกัดพันธุ์ไม้ 58 ชนิด

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่กำหนดให้ต้นไม้ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกันใหม่ ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ปี 2558 ว่า ถือเป็นก้าวแรกที่รัฐให้ความสำคัญกับมูลค่าของต้นไม้ แต่มาตรการนี้ใช้ได้เฉพาะวงการธุรกิจเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงประชาชนที่ปลูกต้นไม้ ที่พวกเขาหวังว่าการปลูกต้นไม้จะสามารถเป็นสวัสดิการในชีวิตและใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันอย่างอื่นได้เช่นกัน ทั้งนี้ มองว่ารัฐอาจจะต้องดำเนินการให้กว้างขวางและครอบคลุมมากกว่านี้

ถ้ารัฐจะให้ใช้เป็นระบบสวัสดิการในชีวิต ระบบการจัดการอาจจะต้องมีการออกแบบที่แตกต่างจากการประกันทางธุรกิจ ซึ่งอาจจะให้องค์กรอิสระหรือองค์กรของรัฐเป็นคนประเมินคุณภาพ

นายเดชรัต ระบุว่าการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจทำให้ผู้ปลูกเข้าถึงแหล่งทุนได้ แต่กฎหมายยังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่จำกัดเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น การกำหนดชนิดของต้นไม้ รวมทั้งความไม่ชัดเจนในการตีความมูลค่าต้นไม้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางประเมินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

คงต้องมีหน่วยงานกลางที่จะช่วยคำนวณว่ามูลค่าที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ และมูลค่าของต้นไม้ไม่ควรคิดเฉพาะต้นไม้ใหญ่เท่านั้น ต้นไม้ขนาดที่กำลังจะเติบโตมันก็มีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวของมันเอง แม้จะยังไม่ได้ถูกใช้ก็ตาม แต่มันควรที่จะได้รับการรับรองมูลค่าด้วย

นายเดชรัต ระบุว่าเพื่อให้ผู้ปลูกต้นไม้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน จำเป็นต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เน้นเฉพาะประโยชน์เชิงธุรกิจ ทำให้เกษตรกรหรือผู้ปลูกต้นไม้บางกลุ่มไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากบางกลุ่มต้องการปลูกเพื่อตัดและขายได้จึงต้องแก้กฎหมายสวนป่าและกฎหมายป่าไม้

ใครจะได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ ผมคิดว่าทุกคนที่ปลูกก็ควรจะได้ประโยชน์ แต่ในทางกลับกันวิธีการออกมาตรการแบบนี้จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงยากไปหน่อย เราจึงจำเป็นต้องมีองค์กรประเมิน และอาจจะมีระบบที่ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกต้นไม้ในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้ หรือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินก็น่าจะร่วมปลูกได้

ทั้งนี้ การกำหนดพันธ์ไม้ยืนต้นที่จะนำมาใช้เป็นหลัก ไม่ควรจำกัดที่ 58 ชนิด ซึ่งในอนาคตควรเพิ่มเติมตามการใช้ประโยชน์ 

นางวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างกฎระทรวงฯ ตามมาตรา 8 ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ที่กำหนดให้ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

คาดใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะประกาศใช้ พร้อมกันนี้ระบุว่าต้นไม้ยืนต้นไม่ได้จำกัดเฉพาะ58 ชนิดตามกฎหมายสวนป่า แต่รวมถึงต้นไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย และมีเงื่อนไขว่าต้องปลูกในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ปลดล็อก ม.7 เปิดทางประชาชนปลูกไม้หวงห้ามขาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง