เปิดแผนตัดยอดน้ำยม "เลี่ยง" น้ำท่วมเมืองสุโขทัย

ภัยพิบัติ
23 ส.ค. 61
16:46
769
Logo Thai PBS
เปิดแผนตัดยอดน้ำยม "เลี่ยง" น้ำท่วมเมืองสุโขทัย
พล.อ.ฉัตรชัย ลงพื้นที่ตรวจการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม ระบุเตรียมแผนรับมือก่อนเข้าช่วงฤดูฝน พร่องน้ำในแม่น้ำยมให้อยู่ในระดับต่ำสุด พร้อมตัดยอดน้ำเข้าแก้มลิง ระบุเป็นไปตามแผนทำให้น้ำไหลผ่านเมือง จ.สุโขทัย น้อยกว่า 400 ลบ.ม.ต่อวินาที

วันนี้ (23 ส.ค.61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมช่วงฤดูน้ำหลาก บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และตรวจเยี่ยมโครงการบางระกำโมเดล 61 บ้านแม่ระหัน อ.เมือง จ.พิษณุโลกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำหลากในหลายพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและบรรเทาผลกระทบ

โดยเฉพาะอิทธิพลพายุเบบินคาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในช่วงวันที่ 17-20 ส.ค.นี้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงแม่น้ำยมที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้น้ำหลากจาก จ.พะเยา และ จ.แพร่ ไหลลงสู่ จ.สุโขทัย และลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยแม่น้ำยม อ.สอง จ.แพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 1,350 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อวันที่ 19 ส.ค.นี้ เมื่อเวลา 06.00 และแม่น้ำยม อ.เมือง จ.แพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 890 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อวันที่ 20 ส.ค.นี้ เวลา 08.00 – 10.00 โดยแม่น้ำยมช่วงที่ผ่าน อ.เมือง จ.สุโขทัย สามารถรับน้ำไหลผ่านได้เพียง 550 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากความกว้างลำน้ำแคบ

 


การวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝนก่อนน้ำหลากมาถึง ทำการพร่องน้ำในแม่น้ำยม ให้อยู่ระดับต่ำสุด ก่อนน้ำหลากถึงประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยทำการผันน้ำผ่านคลองหกบาทไปยังแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 250 ลบ.ม.ต่อวินาที

หลังน้ำหลากผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ทำการผันน้ำออกคลองเล็กฝั่งซ้ายและฝั่งขวาได้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้หากยังมีน้ำหลากเกินกว่า 550 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำการผันเข้าแก้มลิงที่เตรียมไว้ ได้แก่ ทุ่งทะเลหลวง บึงระมาน บึงขี้แร้ง และบึงตะเคร็ง รวมถึงพื้นที่ทุ่งบางระกำ ถือว่าเป็นไปตามแผนปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมือง จ.สุโขทัย น้อยกว่า 400 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

ปรับแผนปลูกข้าว"ทุ่งบางระกำ" รับน้ำหลาก 


สำหรับการแผนดำเนินโครงการบางระกำโมเดลในปี 61 ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการบางระกำโมเดล 60 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน ที่มีหลายหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีให้ทำการเพาะปลูกได้ในเดือนเมษายน เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน เพื่อเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนถึงเดือนส.ค.นี้

และในปีที่ผ่านมาสามารถรองรับน้ำหลากได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถหน่วงน้ำที่ไหลหลากมาจากตอนบนของลุ่มน้ำยม ผ่านบางอำเภอในเขตจ.สุโขทัย และพิษณุโลก และมีส่วนสำคัญช่วยในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยม-น่าน ทำให้ไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาเลย

สำหรับในปี 2561 โครงการบางระกำโมเดลนี้ยังได้ขยายผลออกไปอีกจากเดิม 2.65 แสนไร่ เป็น 3.82 แสนไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้รวมกันทั้งหมด 550 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และฝนในพื้นที่ภาคเหนือมีถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้นการนำน้ำเข้าทุ่งต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ ต้องรอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกัน แต่ทั้งนี้ขอสร้างความมั่นใจว่าน้ำหลากจากภาคเหนือในทุกพื้นที่จะไม่ส่งผลกระทบไปยังภาคเหนือตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยปัจจุบันเขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือ 8 เขื่อน มีน้ำรวม ร้อยละ 63 สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล มีน้ำร้อยละ 59 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 5,400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำร้อยละ 73 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 2,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนสิริกิติ์รับน้ำหลากจากแม่น้ำน่าน ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้ารวม 500 ล้าน ลบ.ม.

สทนช.ชี้ปีนี้ ฝนแปรปรวน


นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า  แม้ในปีนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการจัดทำแผนรองรับน้ำหลากฤดูฝนปี 2561 ซึ่งคาดการณ์ว่ามีฝนน้อยกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5 แต่ด้วยสภาพอากาศมีความแปรปรวนมาก เกิดฝนตกหนักบริเวณชายขอบประเทศ ภาคเหนือตอนล่าง แต่ภาคกลางกลับมีฝนตกน้อย สทนช.ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว โดยได้ติดตามสภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตนี้


ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่ามีพื้นที่ที่คาดว่าจะมีฝนตกน้อย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร โดยพล.อ.ฉัตรชัย ได้สั่งการให้ช่วยเหลือด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ และคาดการณ์ถึงการทำการเกษตรในฤดูแล้งนี้ด้วย รวมถึงประสาน ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงที่ในปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวม 9 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ และ สระแก้ว ปีนี้เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 รวม 161 วัน รวม2,800 เที่ยวบิน มีฝนตกร้อยละ 95 ของเที่ยวบิน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้กับพื้นที่การเกษตรหลายแห่งลดความเสียหายพื้นที่การเกษตรที่ขาดน้ำได้มาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง