"วิระชัย" นำทีมบุกจับยาปลุกเซ็กซ์ขายเกลื่อนย่านสุขุมวิท

สังคม
27 ส.ค. 61
12:19
1,321
Logo Thai PBS
"วิระชัย" นำทีมบุกจับยาปลุกเซ็กซ์ขายเกลื่อนย่านสุขุมวิท
พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา บุกทลายแหล่งจำหน่ายยาปลุกอารมณ์ทางเพศผิดกฎหมายย่านสุขุมวิท หลังได้รับเบาะแสมีมิจฉาชีพนำไปใช้ลวงหญิงสาวหวังล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่ อย.เตือนโทษหนัก ห้ามนำเข้า-ขายและโฆษณายาปลุกอารมณ์ทางเพศผ่านออนไลน์

วานนี้ (26 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น. พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.นำกำลังตำรวจ ทลายกวาดล้างแหล่งจำหน่ายยาปลุกอารมณ์ทางเพศผิดกฎหมาย ซอยสุขุมวิท 11 -13 พบมีการลักลอบขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเพศ และยาปลุกเซ็กซ์จำนวนมาก เบื้องต้น ตำรวจนำของกลางและผู้ลับลอบวางขายไปดำเนินคดีแล้ว


รอง ผบ.ตร. ระบุว่า ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนร้องเรียนกรณีที่มีการใช้ยาปลุกอารมณ์ทางเพศ ในการกระทำความผิดคดีล่อลวงหญิงสาวเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะยาที่เรียกว่า ยาเสียสาว ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการผสมพันธ์ม้า แต่มีผู้ไม่หวังดี นำมาก่ออาชญากรรม จึงฝากเตือนหญิงสาว ให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อหรือดื่มเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า เพราะอาจมีการผสมยาปลุกอารมณ์ทางเพศในเครื่องดื่มออกฤทธิ์ในเวลา 30 วินาที อันตรายสำหรับผู้หญิง


สำหรับของกลางทั้งหมดตำรวจจะยึดไว้พร้อมดำเนินคดีกับผู้ขายตามกฏหมายยาใช้ภายนอกสำหรับผู้ชาย และทิงเจอร์ขาวซึ่งเป็นยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 ผู้ใดจำหน่ายมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-5 ปี หรือนำไปให้ผู้ใดเสพ หลอกลวงให้ผู้อื่นเสพ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท 

อย.เตือนโทษหนัก! ห้ามขายยาปลุกเซ็กส์ออนไลน์ 

ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีแฟนเพจ “Drama-addict” แจ้งเบาะแสมีการขายยาปลุกอารมณ์ทางเพศทางออนไลน์โดยแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองจาก อย.และมีการเผยแพร่โฆษณาออกไปเป็นจำนวนมาก โดยผู้ขายผลิตภัณฑ์ได้นำใบเสียภาษีนำเข้าสินค้าที่ออกโดยกรมศุลกากรมาแสดง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผ่านการตรวจมาตรฐานจาก อย.ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ อย.ได้ตรวจสอบข้อมูล ยาปลุกอารมณ์ทางเพศ Girly Sex พบระบุสรรพคุณว่า " มีอารมณ์อยากมีเพศสัมพันธ์..." ซึ่ง อย.ไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นี้ เข้าข่ายเป็น "ยา" ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ตามมาตรา 4 (4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ดังนั้น ผู้นำเข้าหรือขาย มีความผิดฐานนำเข้าหรือขายซึ่งยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ส่วนโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาขายยาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้การกระทำผิดดังกล่าวยังเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 อีกด้วย ซึ่ง อย. ได้ประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอความร่วมมือในการระงับ ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์และ Social Media ดังกล่าวด้วยแล้ว

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งกฎหมายยังกำหนดประเภทของยาไว้ชัดเจน เช่น ห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยกเว้นเฉพาะ การขายยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จึงต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ในการซักถามประวัติการแพ้ยา เป็นต้น จึงขอเตือนประชาชนว่า ยามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง