Insight : นายกฯ มาเลเซียเยือนจีนและสิ่งที่ไทยต้องเฝ้าจับตา

ต่างประเทศ
27 ส.ค. 61
12:50
1,534
Logo Thai PBS
Insight : นายกฯ มาเลเซียเยือนจีนและสิ่งที่ไทยต้องเฝ้าจับตา
เศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซาและภาระหนี้สินกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่รัฐบาลชุดก่อนก่อเอาไว้ เป็นเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันใช้ในการยกเลิกโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน จนกว่ามาเลเซียจะรอดพ้นจากวิกฤตการคลั

โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมชายฝั่งภาคตะวันออกของมาเลเซีย (East Coast Rail Link: ECRL) จากรัฐสลังงอร์ไปยังรัฐกลันตัน มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในรัฐซาบาห์และรัฐมะละกา มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โครงการ ECRL ที่มา : Malaysia’s Land Public Transport Commission

โครงการ ECRL ที่มา : Malaysia’s Land Public Transport Commission

โครงการ ECRL ที่มา : Malaysia’s Land Public Transport Commission

 

ทั้ง 2 โครงการถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ตามยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia)

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดคำถามตามมาจากบรรดานักลงทุนและคอการเมืองระหว่างประเทศว่า การยกเลิกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการสร้างความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุน ระหว่างมาเลเซียกับจีน ในยุคมหาธีร์ 2.0 หรือไม่

หากเราสังเกตจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง แห่งแดนมังกร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 61) จะพบว่า ความสัมพันธ์ของมาเลเซียกับจีนยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ในทางตรงกันข้ามทั้ง 2 ประเทศกลับมีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือในด้านการค้าให้มากยิ่งขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่จีนไม่รบเร้าให้ผู้นำมาเลเซียกลับมาทบทวนการตัดสินใจเสียใหม่เพราะถ้ามาเลเซียเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจส่งผลกระทบต่อจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

 

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ ระบุว่า จีนใช้โอกาสนี้ชิงความได้เปรียบด้วยการสวมบทพี่ใหญ่และมีวุฒิภาวะ ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 1 ของโลกอยู่ในภาวะคุ้มดีคุ้มร้าย เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มีปัญหาในด้านการตัดสินใจ

ส่วนผู้นำมาเลเซียเองก็ฉลาดพอที่จะไม่จุดประเด็นถึงโจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ซึ่งลี้ภัยไปพำนักในจีน หลังจากเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริตเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียระยะยาว (1Malaysia Development Berhad: 1MDB) เนื่องจากการประเด็นนี้อาจทำให้บรรยากาศการหารือกระอักกระอ่วนไม่น้อย

 

โจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค

โจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค

โจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค


การพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำจีนและผู้นำมาเลเซียเลยจบแบบวิน-วิน ได้ประโยชน์กันทั้งคู่เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยกประเด็นทิ่มแทงใจของอีกฝ่ายขึ้นมาพูด แถมยังจับมือกระชับสัมพันธ์สร้างความร่วมมือกันต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักได้ตั้งข้อสังเกตว่า มหาธีร์จะไม่ค่อยชอบจีนสักเท่าไรจากแนวคิดการพับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน หลังจากกลับขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย

จับตาอนาคตทุเรียนมูซังคิง (Musang King)

ตลอด 5 วันของการเดินทางเยือนจีน ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับและส่วนใหญ่เป็นการดึงเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมล้ำสมัยจากจีนไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซีย เห็นได้จากการเลือกเดินทางไปยังเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นที่แรก เนื่องจากเมืองหางโจวเป็นที่ตั้งของอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) และ เจ้อเจียง จี๋ลี่ (Zhejiang Geely Holding Group) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ซึ่งถือหุ้นของโปรตอน รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียไว้มากกว่าร้อยละ 50 ในปัจจุบัน

 

มหาธีร์และแจ็ค หม่า

มหาธีร์และแจ็ค หม่า

มหาธีร์และแจ็ค หม่า

 

อย่างไรก็ตามข้อตกลงฉบับหนึ่งที่อาจส่งแรงกระเพื่อมมาถึงตลาดส่งออกทุเรียนของไทยผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของจีน คือ Protocol of Inspection and Quarantine Requirements for the Export of Frozen Durian From Malaysia to China หรือ การเปิดไฟเขียวให้มาเลเซียส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนได้ถ้าผ่านมาตรฐานการเพาะปลูกของมาเลเซีย (Malaysia Good Agricultural Practice: MyGAP) เสียก่อน หลังจากที่จีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียนทั้งผลจากมาเลเซียมานานกว่า 10 ปี เพื่อป้องกันศัตรูพืชและสารปนเปื้อน เนื่องจากเกษตรกรมาเลเซียจะรอให้ทุเรียนสุกและหล่นลงมาจากต้นตามธรรมชาติ เนื้อทุเรียนจะเละและกลิ่นแรงต้องรับประทานภายใน 2-3 วันเท่านั้น ทำให้ส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนไม่ได้เพราะไม่ผ่านมาตรฐาน มาเลเซียจึงเลือกที่จะส่งออกทุเรียนในรูปแบบเนื้อทุเรียนแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากทุเรียน (pulp and paste) เท่านั้น

 

ทุเรียนมูซังคิง (Musang King)

ทุเรียนมูซังคิง (Musang King)

ทุเรียนมูซังคิง (Musang King)

 

เพราะฉะนั้นการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นประเด็นที่ภาคการส่งออกทุเรียนของไทยต้องจับตามองในระยะยาว แม้ว่าข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกสินค้าทุเรียนของไทยไปจีน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณถึง 56,000 ตัน ขยายตัวมากถึงร้อยละ 700 ทำให้ภาพรวมการส่งออกทุเรียนของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม

 

 

ถามว่าทุเรียนหมอนทองจากบ้านเราถูกปากชาวจีนไหม?...คำตอบคือไม่ถูกปาก ทุเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน คือ ทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซีย หรือ เหมาซางหวาง ในภาษาจีนซึ่งถือเป็นทุเรียนระดับท็อปของโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากลักษณะพิเศษของทุเรียนชนิดนี้คือเม็ดตาย รสชาติหวานจัด เนื้อหนาและเนียนต่างจากทุเรียนหมอนทอง แต่การเก็บเกี่ยวทุเรียนของมาเลเซียไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกทุเรียนทั้งผลไปจีน ทำให้คนจีนต้องหันมาบริโภคทุเรียนหมอนทองแทนเพราะปัจจุบันไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนทั้งผลไปยังจีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตของทุเรียนมูซังคิงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในห้วงเวลานี้ หลังจากสิงห์เฒ่าแห่งคาบสมุทรมลายูตั้งเป้าผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยการนำโมเดลของการส่งออกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาปรับใช้กับการส่งออกทุเรียน สุดท้ายแล้วภาคการส่งออกไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรปรับตัวตั้งรับข้อตกลงระหว่างจีนกับมาเลเซียฉบับนี้อย่างไรคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิดกันต่อไป

 

พงศธัช สุขพงษ์ 

Twitter: @PhongsathatTPBS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง