สทนช.เดินหน้ารับมือ "น้ำท่วม-ภัยแล้ง" ระยะยาว

ภัยพิบัติ
29 ส.ค. 61
12:12
332
Logo Thai PBS
สทนช.เดินหน้ารับมือ "น้ำท่วม-ภัยแล้ง" ระยะยาว
สทนช. เดินหน้ารวมข้อมูลทำแผนรับมือน้ำท่วมระยะยาว หลังหน่วยงานร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ได้ ขณะที่นักวิชาการแนะปรับเกณฑ์การควบคุมน้ำให้เหมาะสมตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

วานนี้ (28 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนา "รัฐกับการบริหารจัดการน้ำ 2561" นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุว่า ตลอดทั้งเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ต้องลดระดับน้ำในเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และลุ่มน้ำปราจีนบุรี เพื่อรับสถานการณ์และยังคงเฝ้าระวังต่อไป

 

ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ์แม้จะเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อน แต่จนถึงขณะนี้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างเหมาะสม ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำแควน้อย ขณะที่ภาคกลาง ยืนยันว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์ปกติ


ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า การบริหารจัดการณ์น้ำปีนี้มีความเป็นเอกภาพ เพราะมีฐานข้อมูลรวม ทำให้แต่ละหน่วยงานเข้าถึง และนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน ภายใต้ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนต่อเนื่องถึงระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทั้งในภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม


ส่วนนายสมภพ  สุจริต คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอปรับปรุงเกณฑ์การควบคุมน้ำให้มีความเหมาะสมกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และออกแบบทางระบายน้ำภายในเขื่อนเมื่อน้ำเต็มเขื่อนพร้อมเสนอสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเพื่อกักเก็บน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำท่ามีมากถึง 2.9 แสนล้าน ลบ.ม. แต่สามารถกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำได้เพียง 8 หมื่นล้าน ลบ.ม.


ทั้งนี้ นายภุชพันธ์  ศิริทรัพย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝน ประกอบกับเกิดความกดอากาศต่ำพาดผ่านรอยต่อประเทศไทยของภาคเหนือ ทำให้มีฝนตกทุกวัน โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง มีฝนตกช่วงบ่ายถึงค่ำ ในอนาคตยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือน ต.ค. นอกจากนี้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จะเป็นช่วงพายุก่อตัวในทะเลแปซิฟิก คาดว่าพายุผ่านเข้ามายังประเทศไทย 1-2 ลูก ประชาชนควรระวังด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง