"บางระกำโมเดล" เปลี่ยนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากใช้กักเก็บน้ำแก้อุทกภัย

ภัยพิบัติ
2 ก.ย. 61
19:59
4,940
Logo Thai PBS
"บางระกำโมเดล" เปลี่ยนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากใช้กักเก็บน้ำแก้อุทกภัย
เกษตรกรในพื้นที่บางระกำ เก็บเกี่ยวข้าวนาปีใกล้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเป็นพื้นที่รับน้ำ ผันเข้าทุ่งบางระกำซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ตามแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่าน ขณะที่กรมชลประทานจ้างงานประชาชนในช่วงเว้นจากการทำนา

วันนี้ (2 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าวนาปีในพื้นที่บางระกำ จ.พิษณุโลก 380,000 ไร่ เก็บเกี่ยวใกล้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเป็นพื้นที่รับน้ำ ผันเข้าทุ่งบางระกำ ตามแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ขณะที่ชาวบ้านหลายคน ก็เข้าร่วมโครงการจ้างงานของกรมชลประทาน เพื่อไม่ต้องออกไปขายแรงงานไกลบ้าน ตามโครงการบางระกำโมเดล 2561


ชาวนาบ้านแท่นนางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปลี่ยนบทบาทจากการทำนา มาเป็นคนงานซ่อมบำรุงระบบชลประทาน ในโครงการจ้างงานของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ว่างเว้นการทำเกษตร ไปจนถึงช่วงปลายปี เนื่องจากพื้นที่นาข้าวจะกลายเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำตามโครงการบางระกำโมเดล ปี 2561


สำหรับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือ การบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยม-น่าน หรือโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งหัวใจหลัก คือ ให้ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำจะท่วม และมีผลพลอยได้ คือ อาชีพการประมง รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพาะปลูกรอบต่อไป


ปีนี้ชาวนาจึงเริ่มเพาะปลูกข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมดไม่เกินต้นเดือน ก.ย. ก่อนที่น้ำเหนือจะมาถึง แต่การผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำ ยังต้องรอความเห็นชอบจากทุกฝ่าย


นายกฤษณะ บุตรบูรณ์ หน.ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านที่ 3 ระบุว่า โครงการบางระกำโมเดลต้องรอให้ชาวบ้านและเกษตรกรพร้อมและผ่านการร้องขอมาทางผู้นำ เพื่อเข้าประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำใหญ่ โดยนายอำเภอบางระกำเป็นประธานร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ โครงการบางระกำโมเดล ปี 2561 เป็นต่อยอดความสำเร็จจากโครงการบางระกำโมเดลในปีก่อน ที่สามารถหน่วงน้ำที่ไหลจากตอนบนของลุ่มน้ำยม ผ่าน จ.สุโขทัยและพิษณุโลก ทำให้ปีที่ผ่านมา ไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่โครงการจาก 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ สามารถรองรับน้ำได้ 550 ล้านลบ.ม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง