นาแห้วโมเดล ปลดล็อก “คนอยู่กับป่า”

สิ่งแวดล้อม
3 ก.ย. 61
23:28
1,962
Logo Thai PBS
นาแห้วโมเดล ปลดล็อก “คนอยู่กับป่า”
รู้จัก "นาแห้วโมเดล จ.เลย รัฐจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนกว่า 4,000 ไร่ ปลดล็อกแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าลุ่มน้ำ พร้อมเตรียมขยายผลสู่พื้นที่อื่น ยืนยันควบคุมการบุกรุกป่าเพิ่ม ชาวบ้านดีใจ ไม่ต้องอยู่แบบกังวลว่าถูกจับ

"ดีใจนะ เพราะเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ได้สิทธิทำกินในเขตป่า ต่อไปจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเรียกคืนพื้นที่ เพราะเรารู้มาตลอดว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ"

นางหอม สุขเสริม ชาวบ้านนาโพธิ์ อ.นาแห้ว จ.เลย บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมกับรอยยิ้มกว้าง เธอเล่าว่า ทำกินมาตั้งแต่ปี 2523 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปื่อย ป่าภูขี้เถา และป่าภูเรือ เพียงแค่อาศัยทำกินและปลูกพืชผลการเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ประมาณ 24 ไร่ ปลูกมะขาม ปลูกกล้วย ปลูกผักหวาน พอเลี้ยงและขายสร้างรายได้ โดยพื้นที่ 3 ไร่ เพิ่งแบ่งไปปลูกยางพาราเมื่อปี 2549 และเพิ่งเริ่มกรีดน้ำยางปีแรก

 

 

นางหอม บอกว่า ตัวเองรู้มาตลอดว่าอยู่ในเขตป่า และไม่เคยคิดจะบุกรุกเพิ่มเติม แต่ยอมรับกังวลว่าอาจจะถูกยึดคืนพื้นที่ กระทั่งกรมป่าไม้มาสำรวจปักแนวเขตปี 2557 และบอกกับว่าห้ามบุกรุกเพิ่ม ซึ่งจำกติกานี้ได้ดี

กระทั่ง เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เรียกไประชุม 2 ครั้ง กำหนดกติกาและกำหนดพื้นที่ร่วมกัน บอกว่า จะได้ทำกินอย่างถูกกฎหมายแบบแปลงรวมร่วมกับคนอื่นๆ ตอนนี้ยังดีใจและก็ยังยึดมั่นว่าจะไม่บุกรุกป่าเพิ่ม และจะช่วยดูแลรักษาป่า

เช่นเดียวกับนายบุญมี แนบแสงสี ชาวบ้านาโพธิ์ ที่ได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน 10 ไร่ ที่อาศัยทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และตกทอดมาถึงตัวเอง

 

 อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่กันมาที่นี่ แต่ก่อนทำข้าวไร่ ปลูกข้าวโพด มาเรื่อยๆ แต่เพิ่งเปลี่ยนมาปลูกหญ้าเลี้ยงวัว รายได้ดีกว่า

 

นายบุญมี ยอมรับว่า กังวลว่าจะถูกนำที่ดินทำกินกลับไปเป็นป่า และไม่นึกว่าจะได้สิทธิทำกิน จนกระทั่งวันนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกกับตัวเองและชาวบ้านเป็นพื้นที่นำร่อง หลังจากนี้ก็จะช่วยรักษาพื้นที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

 

 

อ.นาแห้ว จ.เลย ถูกคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ตามแผนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ภายใต้โครงการ ”นาแห้วโมเดล” จ.เลย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปื่อย ป่าภูขี้เถา และป่าภูเรือเป็นพื้นที่นำร่อง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานเร่งรัดการจัดการพื้นที่ และมอบหนังสือทำกินให้กับผู้นำชุมชน หมู่บ้านบ้านนาโพธิ์ ต.นาแห้ว 722 แปลง รวม 2,753 ไร่ และบ้านหัวนา ต.แสงภา 423 แปลง รวม 1,549 ไร่ ซึ่งได้ตรวจสอบและยืนยันแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2545-2557 เสร็จทั้งหมดแล้ว

 

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า นาแห้วโมเดล คือการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในการจัดระเบียบที่ดิน โดย อ.นาแห้ว มีป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านอยู่กันมานานแล้ว แต่สถานภาพของพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่แบบถูกต้องตามกฎหมาย และจากนโยบายของรัฐบาลต้องการจัดระเบียบให้คนอยู่กับป่าได้ ซึ่งออกแบบทำกันมา 2-3 ปี และลงตัวที่นาแห้วแห่งแรก

 

ตรงไหนที่ประชาชนมีความเข้มแข็งและผู้นำชุมชนมาร่วมกันกำหนดและรับรองพื้นที่ กรมป่าไม้ตรวจสอบพิกัดแผนที่ กำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและทำกินที่ออกแบบร่วมกันและป้องกันการบุกรุกเพิ่ม ใช้วิธีการทำงานโดยต้องใช้ความไว้วางใจกัน

สำหรับหลักการนั้นต่างกับพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากนาแห้วเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 และชาวบ้านอยู่กันมานานกว่า 100,000 ไร่ ส่วนลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ประมาณ 2,000ไร่ และมีความจำเป็นว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เปิดช่องให้อนุญาตอยู่ได้

 

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ที่ดินยังเป็นของรัฐ แต่ให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ และอนาคตนาแห้วโมเดลจะกลายเป็นต้นแบบของ จ.เลย และขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหาที่ดินลักษณะนี้

ส่วนทางหลักทางธรณีวิทยานั้นหากพบว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติก็ต้องหารือร่วมกัน เบื้องต้นจะอนุญาตให้ทำกินและอยู่อาศัยได้ตามเงื่อนไข แต่ในอนาคตจะให้กรมทรัพยากรธรณีเข้าพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยง หรือจุดอันตรายเกิดดินถล่ม ไม่เหมาะกับการอาศัยอยู่ พร้อมพูดคุยกับประชาชนให้เข้าใจและย้ายออก

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่เหลืออีก 32 หมู่บ้าน จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 หลังมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 ได้วางแผนร่วมกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านประชาคม เพื่อออกแบบและคัดเลือกพันธุ์ไม้ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง มาฟื้นฟูสภาพป่า

 

 

ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและพืชพื้นล่าง ส่วนชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 หลังมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐ แต่ชุมชนต้องดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ตามที่กำหนดร่วมกันด้วย

สำหรับอำเภอนาแห้วมีเนื้อที่ 392,235 ไร่ เป็นที่ดินเอกชน 14,041.86 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.58 และเป็นที่ดินของรัฐ 378,193.14 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 96.42 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ จำนวน 311,290.63 ไร่ หรือร้อยละ 79.36

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ พบว่าในปี 2558 มีพื้นที่คงสภาพป่าจำนวน 266,020 ไร่ หรือร้อยละ 67.82 โดย อ.นาแห้ว มี 5 ตำบล 34 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 33 หมู่บ้าน แบ่งเป็น อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 จำนวน 22 หมู่บ้าน และทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 บางส่วนอีก 11 หมู่บ้าน ส่วนอีก 1 หมู่บ้านอยู่ในเขตความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จัดระเบียบคนคุมป่าแหว่งกว่า 20 ล้านไร่ 

เปิดตัวเลขคนในเขตป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง