"พายุ 2 ลูก" ส่งผลริมโขงเสี่ยงน้ำท่วมระลอกใหม่

ภัยพิบัติ
11 ก.ย. 61
14:43
3,253
Logo Thai PBS
"พายุ 2 ลูก" ส่งผลริมโขงเสี่ยงน้ำท่วมระลอกใหม่
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้พายุ 2 ลูก "บารีจัต-มังคุด"กระทบไทยทางอ้อม เตือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดติดริมน้ำโขง เสี่ยงเจอฝนตกหนัก และน้ำท่วมริมตลิ่ง ส่วน กทม.ยังเจอร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลฝนตกช่วงบ่ายถึงค่ำ

วันนี้ (11 ก.ย.2561)นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา"พายุบารีจัต” (BARIJAT)"  เนื่องจากพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุโซนร้อน “บารีจัต” เมื่อเวลา10.00 น.ของวันนี้ ความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกง และเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.นี้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

แนวโน้มพายุจะไม่กระทบไทยโดยตรง แต่จะดึงให้ร่องมรสุมสูงขึ้น ทำให้แถวภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขงที่เคยเจอน้ำล้นตลิ่ง เช่น นครพนม บึงกาฬ อาจจะมีน้ำท่วมริมตลิ่ง เพราะฝนจะตกในประเทศลาวเพิ่มมากขึ้นส่งผลต้องระบายน้ำลงแม่น้ำโขง

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ส่วน พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.นี้

จะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม

พายุมังคุด จะขึ้นสูงกว่าตัวแรก ซึ่งพายุทั้งสองตัวไม่ได้เข้าไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบทางอ้อม เพราะจะดึงให้ร่องฝนที่พาดผ่านภาคกลางทำให้มีฝนตกหนักได้

ส่วนกรุงเทพมหานคร ฝนที่ตกเป็นอิทธิพลของร่องฝน และฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่าฝนตกบ่ายถึงค่ำ และลักษณะแบบนี้จะอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.จนกว่าร่องฝนจะเคลื่อนลงภาคใต้

ทั้งนี้ สถานการณ์พายุ 2 ลูกทางกรมอุตุนิยมวิทยา ส่งข้อมูลให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.แล้วและมีการนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำก้่ำ แม่น้ำสงคราม เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน ขณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ภาคตะวันตก ทีเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งวชริลงกรณ เขื่อนศรรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีที่มีปริมาณน้ำเต็มต้องวางแผนระบายน้ำ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ทั่วไทยฝนตกเพิ่มขึ้น 8-10 ก.ย. เสี่ยงน้ำท่วม-ดินถล่ม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง