10 ปีที่รอคอย ! ตัดสินคดีฟอสซิลหอยขมแม่เมาะ 13 ล้านปี

สิ่งแวดล้อม
12 ก.ย. 61
16:49
3,358
Logo Thai PBS
10 ปีที่รอคอย ! ตัดสินคดีฟอสซิลหอยขมแม่เมาะ 13 ล้านปี
รอคอย 10 ปี พรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ลุ้นคำพิพากษาคดีชาวบ้านฟ้อง ครม.สมัยนายทักษิณ ชินวัตร กรณีการไม่คุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยอายุ 13 ล้านปีเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง ด้านกรมทรัพยากรธรณี ระบุยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะยังอยู่ระหว่างคดี

วันนี้ (12 ก.ย.2561) นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย นายเฉลียว ทิสาระ กับพวกรวม 18 คน ฟ้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 กรณีที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

ทั้งนี้ นายเฉลียวและพวกได้ฟ้อง ครม.และพวกที่มีมติ ครม.วันที่ 21 ธ.ค.2547 ให้อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมน้ำจืดดึกดำบรรพ์เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง อายุ 13 ล้านปี น้อยกว่าจำนวนที่ควรจะอนุรักษ์ และละเลยปล่อยให้มีการไถทำลายซากหอยดังกล่าวที่อยู่นอกเขตมติ ครม. ตามประทานบัตรเลขที่ 24349/16341 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่

 

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

 

คดีนี้ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2550 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์จำนวนเนื้อที่ 43 ไร่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ควบคุมและสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 24349/15341

นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถานโดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 

คดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาในชั้นสูงสุดนาน 10 ปี และวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.)จะมีการตัดสินแล้ว ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งคดีที่รอคอย
ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

 

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เพราะตลอดระยะเวลาในการสืบพยานหลักฐานต่างๆ ยอมรับว่ามีข้อจำกัด เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ยาก นอก จากนี้ในช่วงการฟ้องคดี มีการผลักดันให้เป็นแหล่งโบราณสถาน แต่หลังจากมี พ.ร.บ.คุ้มครองซาก ดึกดำบรรพ์ จะทำให้ส่งผลต่อการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยหรือไม่ และไม่ชัดเจนว่าได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใหม่แล้วหรือไม่

แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรธรณี  ระบุว่า เนื่องจากแหล่งฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปียังอยู่ภายใต้คดีของศาล จึงยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งขณะนี้มีเพียง 11 แห่งจาก 300 กว่าแหล่งที่มีการขอขึ้นทะเบียน ส่วนตัวซากฟอสซิลมีการขึ้นทะเบียนไว้ 189 ชิ้น แต่ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ 34 เช่น ไดโนเสาร์สายพันธ์ุใหม่ 

 

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับคดีนี้ชาวบ้านฟ้องคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ในพื้นที่พบแหล่งฟอสซิลหอยขมอายุ 13 ล้านปีถือเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง