เฝ้าระวังอิทธิพล "บารีจัต-มังคุด" หลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

ภัยพิบัติ
12 ก.ย. 61
21:12
2,602
Logo Thai PBS
เฝ้าระวังอิทธิพล "บารีจัต-มังคุด" หลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
กลางเดือน ก.ย.นี้ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักจากพายุ “มังคุด” และ “บารีจัต” แม้พายุทั้ง 2 ลูกจะไม่เข้าฝั่งไทยโดยตรง แต่ก็อาจทำให้หลายพื้นที่ที่มีน้ำท่วมก่อนหน้านี้ ต้องรับมือกับน้ำท่วมอีกครั้ง

พายุโซนร้อน 2 ลูกที่จะมีอิทธิพลต่อประเทศไทยในเดือน ก.ย.2561 ลูกแรก “บารีจัต” จะเคลื่อนตัวจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม วันที่ 13-14 ก.ย.นี้ จากนั้นวันที่ 16-18 ก.ย. ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุลูกที่ 2 คือ “มังคุด” เคลื่อนตัวไปยังประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งพายุทั้ง 2 ลูกจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก

นอกจากนี้จะส่งผลให้ “มรสุมตะวันตกเฉียงใต้” มีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้พื้นที่ในภาคตะวันตก เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ฯลฯ มีฝนตกหนัก ส่วนพื้นที่ภาคกลางที่จะมีฝนมาก คือ กรุงเทพฯ และนครนายก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม จะมีฝนตกมาก ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากพายุที่เคลื่อนตัวผ่านประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้หลายพื้นที่มีเขื่อนเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ แต่ขณะนี้หลายเขื่อนมีน้ำเกินระดับเก็บกักปกติ (100% ของความจุ) เช่น เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีน้ำ 101% ของความจุ และเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีน้ำ 105% ของความจุ เมื่อมีปริมาณฝนเข้ามาเพิ่ม เขื่อนจะไม่มีศักยภาพในการหน่วงน้ำ และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ทั้งน้ำเอ่อล้นตะลิ่งและน้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชน

 

ส่วนพื้นที่ภาคกลาง สิ่งที่น่ากังวลคือปรากฎการณ์ “ฝนตกแช่” หากฝนตกเฉพาะบางจุดเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ขณะเดียวกันเขื่อนในภาคกลาง เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีการระบายน้ำเต็มศักยภาพอยู่แล้ว เมื่อมีฝนตกเพิ่มจึงเสี่ยงน้ำท่วม

ทั้งนี้ ประเด็นน้ำเหนือที่เพิ่มขึ้นจากประมาณฝนใน 1 สัปดาห์นับจากนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลาง-พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามากนัก พิจารณาจากเขื่อนภูมิพลที่รับน้ำจากลุ่มน้ำปิง มีน้ำเพียง 62% ของความจุ ยังรับน้ำได้มาก ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ที่รับน้ำจากลุ่มน้ำน่าน มีน้ำ 81% ของความจุ แม้เกินเกณฑ์ควบคุม แต่ยังรับน้ำได้อีกพอสมควร แต่สิ่งที่น่ากังวลคือสถานการณ์ลุ่มน้ำยม เพราะตลอดลุ่มน้ำไม่มีเขื่อนจัดการน้ำ หากมีฝนตกหนักใน จ.พะเยา และ จ.แพร่ จะทำให้มวลน้ำทะลักมายัง จ.สุโขทัย พื้นที่แรกที่อาจได้รับผลกระทบ คือ อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการไหลของน้ำ 327 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่แม่น้ำมีศักยภาพรับน้ำได้ถึง 1,360 ลบ.ม./วินาที

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า กรมชลประทานมีแผนรับมือกับมวลน้ำในภาคเหนือ เช่น จ.สุโขทัย มีพื้นที่รับน้ำทั้งแก้มลิงและทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ได้เตรียมพื้นที่รับน้ำไว้แล้ว จึงคาดว่าน้ำเหนือจะไม่กระทบต่อสถานการณ์น้ำในภาคกลาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง