ยืนยันพายุไต้ฝุ่น "มังคุด" ไม่เข้าไทย

สังคม
17 ก.ย. 61
12:04
8,599
Logo Thai PBS
ยืนยันพายุไต้ฝุ่น "มังคุด" ไม่เข้าไทย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันพายุไต้ฝุ่นมังคุดไม่เข้าไทย ขณะนี้เคลื่อนไปที่มณฑลกวางตุ้งของจีนและอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนแล้ว ไทยได้รับเพียงอิทธิพลทางอ้อม ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น

จากกระแสข่าวว่าพายุไต้ฝุ่นมังคุดอาจวกกลับเข้ามาในไทยและส่งผลกระทบเทียบเท่ากับพายุไต้ฝุ่นเกย์ที่ขึ้นฝั่งชุมพร เมื่อปี 2532 นั้น

วันนี้ (17 ก.ย.2561) นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่พายุไต้ฝุ่นมังคุดจะวกเข้ามาในไทย เพราะพายุไต้ฝุ่นมังคุดขึ้นฝั่งฮ่องกงและเคลื่อนไปที่มณฑลกวางตุ้งของจีนแล้ว โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะสลายตัวบริเวณมณฑลยูนนาน โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับภายในวันที่ 18 ก.ย.นี้

เส้นทางพายุมังคุดไม่ได้เข้าประเทศไทย หรือมีผลกระทบลักษณะเดียวกับพายุเกย์ เพราะพายุเกย์ที่ขึ้นฝั่ง จ.ชุมพร เป็นพายุไต้ฝุ่น แต่ขณะนี้มังคุดอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งไทยจะได้รับอิทธิพลทางอ้อม ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 17-19 ก.ย.นี้  

ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

 

เตือน 30 จังหวัดรับฝนตกหนัก

ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ว่า วันนี้ (17 ก.ย.) เวลา 04.00 น. พายุไต้ฝุ่นมังคุดบริเวณประเทศจีนตอนใต้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว มีแนวโน้มว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าสู่เขตมณฑลยูนนาน ในวันที่ 18 ก.ย.นี้

สำหรับสถานการณ์ฝนวันนี้ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 30 จังหวัด ได้แก่ จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จ.นครปฐม จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต จ.ตรัง และ จ.สตูล

ปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยภาคตะวันออกปริมาณฝนสูงสุดที่ จ.จันทบุรี 226 มม. จ.ตราด 200 มม. จ.ชลบุรี 83 มม. และ จ.ปราจีนบุรี 44 ม. ส่วนภาคใต้สูงสุดที่ จ.ระนอง 194 มม. จ.พังงา 125 มม. จ.ภูเก็ต 97 มม. จ.สุราษฎร์ธานี 95 มม. จ.สตูล 74 จ.ตรัง 44 มม. และ จ.กระบี่ 42 มม. ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.มุกดาหาร 60 มม. ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง

 

เร่งระบายน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี-นครนายก

จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำและลำน้ำที่สำคัญในหลายพื้นที่พบว่ามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากยังมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแม่น้ำภาคตะวันออกมีระดับปานกลางถึงน้ำมาก มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว แนวโน้มทรงตัว อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แนวโน้มเพิ่มขึ้น และคลองพระปรง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในคลองละงู บริเวณ ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล คลองนางน้อย ต.นาโยงใต้ อ.เมือง จ.ตรัง

นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปราจีนบุรี บางปะกง ที่ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามที่ สทนช.ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำระบบชลประทานในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก ตามการคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกต่อเนื่องในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกต้องปรับแผนการระบายน้ำ เพื่อแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำในและแม่น้ำนครนายก โดยให้กระทบต่อพื้นที่น้อยที่สุด รวมไปถึงการบริหารจัดการพื้นที่ทุ่งรับน้ำให้เป็นไปตามแผน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง