เปิดปม : ชีวิตหนี้มลาบรี

18 ก.ย. 61
13:44
1,136
Logo Thai PBS
เปิดปม : ชีวิตหนี้มลาบรี
ค่าแรงทำไร่ข้าวโพดพื้นที่เท่ากับภูเขาทั้งลูก 5,000 บาท/คน/ปี คุณสามารถดำรงชีพอยู่ได้หรือไม่? ชาวมลาบรีอยู่ได้ แต่แค่ยากจน เป็นหนี้ ติดเหล้า ฆ่าตัวตาย
ชาวมลาบรีหรือที่คนภายนอกเรียกว่า “ตองเหลือง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่พวกเขาไม่ต้องการ มีประชากรจำนวน 500 คนทั่วประเทศไทย ปัจจุบันพวกเขาเผชิญกับปัญหาความยากจน มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 500 บาทต่อครอบครัว และอยู่ในสภาพลูกหนี้ติดไร่ สถานะดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงมลาบรีเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ และเด็กชาวมลาบรีเข้าสู่ระบบแรงงานในไร่ตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ปี

มรดกหนี้ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

บรรยากาศเงียบสงบและอากาศสดชื่นจากฝนที่เพิ่งตกลงมาเมื่อเช้า ทำให้ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ขุนน้ำสะเนียน-ห้วยลู่ อ.เมืองน่าน จ.น่าน เป็นหุบเขาสีเขียวที่แทรกอยู่ท่ามกลางเขาหัวโล้น นายจันและนางเรียม สุชนคีรี สองสามีภรรยาชาวมลาบรี พร้อมกับลูกสาวเก็บถอนหญ้าในนาข้าวอย่างไม่รีบร้อน เหนื่อยก็พัก อยากพักนานเท่าไรก็ได้ จะเดินออกไปหาของป่าใกล้ๆ แล้วกลับมาถอนหญ้าในนาต่อก็ได้ โดยไม่มีเสียงของนายจ้าง หรือ พ่อเลี้ยงคอยไล่ให้ไปทำงานเหมือนแต่ก่อน

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของนายจันและนางเรียมที่ได้ใช้ชีวิตอิสระอย่างที่พวกเขาต้องการ ชาวมลาบรีมีวิถีชีวิตเป็นชนเผ่าหาของป่าล่าสัตว์ หรือ สังคมนายพราน ในอดีตชนเผ่ามลาบรีจะเคลื่อนย้ายที่อยู่ในป่าลึก เพื่ออาหารยังชีพ อาจมีบ้างที่นำของป่ามาแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้กับคนภายนอกหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างม้ง ลั้วะ และคนเมือง

 

นายจันและนางเรียม สุชนคีรี ชาวมลาบรี

นายจันและนางเรียม สุชนคีรี ชาวมลาบรี

นายจันและนางเรียม สุชนคีรี ชาวมลาบรี

 

นายจัน เล่าว่า แต่ก่อนเขาอาศัยอยู่ในป่า ขณะที่นางเรียมเป็นชาวมลาบรีที่อาศัยอยู่เป็นชุมชนแล้ว หลังจากนายจันอยู่กินกับนางเรียม เขาออกจากป่ามารับจ้างพ่อเลี้ยงทำไร่ข้าวโพดเพื่อแลกกับหมู 1 ตัว และข้าวสาร โดยทำงานในไร่ข้าวโพดตอบแทนของที่ได้เป็นระยะเวลา 12-15 เดือน ทำงานตั้งแต่ถางหญ้าเป็นภูเขาเพื่อลงเมล็ดข้าวโพดจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ปัจจุบันพ่อเลี้ยงเปลี่ยนจากหมูและข้าวสารเป็นค่าจ้างรายปี เฉลี่ยแล้วแต่ละเดือนทั้ง 2 คน มีรายได้รวมกันไม่ถึง 500 บาท

ค่าแรงสำหรับ 2 คน คือ ประมาณ 3,000 - 4,000 บาท แต่มีบางเจ้าให้พันกว่าบาท ประมาณ 1,500 - 1,600 บาท ให้ทำงาน 1 ปี

ปัจจุบันนายจันและนางเรียมทำงานใช้หนี้พ่อเลี้ยงหมดแล้ว พวกเขาจึงสามารถทำงานรับจ้างรายวันได้อย่างอิสระ โดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จะให้ค่าจ้างชาวมลาบรีที่วันละ 200 บาทต่อคนต่อวัน

นายจันเล่าต่อว่า ระหว่างที่ทำงานให้พ่อเลี้ยงอยู่นั้น หากมีพ่อเลี้ยงคนใหม่ต้องการแรงงานชาวมลาบรี พ่อเลี้ยงคนใหม่ต้องนำเงินมาจ่ายให้กับพ่อเลี้ยงคนเดิมในจำนวนเงินที่พ่อเลี้ยงทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ ซึ่งส่วนมากจะจ่ายตามยอดหนี้ที่ชาวมลาบรีติดอยู่กับพ่อเลี้ยงคนเก่า จากนั้น ชาวมลาบรีจะถูกโอนย้ายไปทำงานกับพ่อเลี้ยงคนใหม่โดยไม่ได้รับค่าตอบใดๆ เพราะถือว่าเปลี่ยนเจ้านายหรือเจ้าหนี้เท่านั้น

การจ้างทำงานทำไร่เป็นรายปี ยังเหมารวมแรงงานเด็กและคนแก่ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกับ 2 สามีภรรยาคู่นี้อีกด้วย นายยน สุชนคีรี ชาวมลาบรี วัย 20 ปี ลูกชายของนายจันและนางเรียมเล่าว่า เขาเริ่มทำงานในไร่ตั้งแต่เด็ก เพราะต้องตามพ่อแม่ไปทำงานในไร่ ในตอนแรกนายยนมีหน้าที่หุงอาหารและดูแลน้องๆ ระหว่างที่พ่อกับแม่ทำงาน แต่พอเขาอายุได้ประมาณ 11 ปี ก็เริ่มทำงานในไร่เหมือนกับผู้ใหญ่ ตั้งแต่ถางหญ้า หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ใส่ปุ๋ย และหักข้าวโพด จนกระทั่งอายุ 15 ปี จึงออกไปหาพ่อเลี้ยงเป็นของตนเอง โดยได้ค่าจ้างปีละ 3,000 บาท

 

นายยน สุชนคีรี ชาวมลาบรี ลูกชายนายจันและนางเรียม สุชนคีรี

นายยน สุชนคีรี ชาวมลาบรี ลูกชายนายจันและนางเรียม สุชนคีรี

นายยน สุชนคีรี ชาวมลาบรี ลูกชายนายจันและนางเรียม สุชนคีรี

 

สุดท้าย นายยนต้องกลายเป็นหนี้พ่อเลี้ยง 2 คน เพราะเงินที่ได้ไม่พอกับรายจ่าย ปัจจุบันเขาเพิ่งได้ปลดหนี้มาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านชาวมลาบรีบ้านห้วยลู่ แห่งเดียวกันกับพ่อและแม่ หลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำเงินค่าจ้างปลูกป่าบางส่วนของนายยนไปจ่ายพ่อเลี้ยง เพื่อไถ่ตัวนายยนออกมาจากระบบหนี้ ครอบครัวนายจันและนางเรียม และลูกชายอาจเป็นชาวมลาบรีที่โชคดี แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว

ชาวมลาบรี แรงงานราคาถูกที่หอมหวาน

 

 

นายชุมพล โพธิสาร ผู้ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) ระบุว่า ระหว่างที่เขาเก็บข้อมูลชาวมลาบรีในพื้นที่ จ.น่าน เคยพบตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า บรรดาพ่อเลี้ยงมักมองหาเด็กชาวมลาบรีเพื่อนำมาเป็นแรงงานราคาถูกในไร่

 

มีเด็กชาวมลาบรีอายุยังไม่ถึง 15 ปี แต่ทำงานได้แล้ว พ่อเลี้ยงก็จะมาถึงยื่นเงินให้บอกว่าเอาไปกินขนมนะ แล้วควักมา 500 บาท ไม่ว่าเด็กจะอยากรับหรือไม่อยากรับ พ่อเลี้ยงก็จะมีวิธีเกลี้ยกล่อมให้เด็กรับเงินจำนวนนี้ให้ได้ พอเด็กรับไปแล้ว เด็กก็ต้องทำงานในไร่เพื่อชดใช้เงินที่ได้มาพอหลวมตัวเข้าไปทำงานในระยะแรก ต่อมาก็จะกลายเป็นแรงงานในไร่ และกลายเป็นลูกหนี้ในที่สุด

แรงงานเด็กชาวมลาบรีจึงเป็นสิ่งหอมหวานสำหรับพ่อเลี้ยง เพราะเป็นแรงงานราคาถูกและมีกำลังแข็งแรง สามารถทำงานหนักอย่างแบกข้าวโพดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวได้อย่างสบาย โดยจ่ายเพียงค่าแรงรายปีไม่กี่พันบาทกับข้าว 3 มื้อ

นายชุมพลบอกว่า อีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นกังวลคือ แม้เด็กชาวมลาบรีได้รับการศึกษาจากภาครัฐแต่ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลกลับมีกฎว่าห้ามเด็กชาวมลาบรีพูดภาษามลาบรีในโรงเรียนให้พูดเพียงภาษาไทยเท่านั้น ส่งผลให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กชาวมลาบรีถูกขัดขวาง เนื่องจากในช่วง 3-5 ปี เป็นช่วงที่เด็กควรได้เรียนรู้ภาษาแม่ให้แข็งแรงก่อนจะเรียนรู้ภาษาอื่น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่เด็กชาวมลาบรีมีผลการเรียนที่ไม่ดีและออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนมาก อาจเกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการทางการเรียนที่ถูกรบกวนมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้เด็กชาวมลาบรีไม่สามารถใช้การศึกษายกระดับฐานะทางครอบครัวของตนเองได้ และกลับสู่วงจรความยากจน เป็นลูกหนี้ติดไร่

ขณะที่นายศักรินทร์ ณ น่าน อดีตผู้ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี และอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ให้ความเห็นว่า สังคมที่ต้องแยกออกจากครอบครัวไปอยู่ในไร่ยังเป็นการแยกเด็กออกจากครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งต้องการการดูแลจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด

เมื่อพ่อแม่ไม่ได้กลับบ้าน เด็กจะอยู่กับใคร แม้ไปอยู่ศูนย์เด็กเล็กเอง แต่จะมีใครดูแลได้ดีเท่าพ่อกับแม่

 

สวัสดิภาพผู้หญิงชาวมลาบรีในมุมมืดของไร่

 

 

ชาวมลาบรีจำนวนไม่น้อยต้องออกจากบ้านและอาศัยอยู่ในไร่เกือบทั้งครอบครัว เพื่อทำงานให้กับพ่อเลี้ยง เนื่องจากการเดินทางอันยากลำบากและความห่างไกล ภายใต้นิสัยเขินอายและไม่กล้าพูดกับคนแปลกหน้าของชาวมลาบรี มีเรื่องราวมืดมนมากมายซ่อนอยู่

มีข้อมูลว่าผู้หญิงชาวมลาบรีที่อาศัยอยู่ในไร่ หรือ ทำงานในไร่ เสี่ยงต่อการถูกข่มขืน หรือ ถูกคุกคามทางเพศโดยนายจ้าง หลายครั้งที่พ่อเลี้ยงดื่มสุราจนเมาและข่มขืนหญิงชาวมลาบรีขณะกำลังทำงานอยู่ในไร่ เลวร้ายสุดคือข่มขืนหญิงชาวมลาบรีต่อหน้าสามีและลูก โดยไม่มีใครกล้าดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ล่วงละเมิด

แม้แต่หญิงชาวมลาบรีที่เพิ่งคลอดลูกอยู่ในไร่ได้ไม่กี่วัน พ่อเลี้ยงก็ยังบังคับให้ทำงานเพราะเกรงว่าหากงานล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้ได้ราคาผลผลิตไม่ดี หญิงสาวชาวมลาบรีจึงจำเป็นต้องออกไปทำงานโดยประคองเด็กทารกแรกเกิดออกไปในไร่ด้วย สุดท้ายพบว่าเด็กทารกเสียชีวิตในไร่ระหว่างที่อยู่ในอ้อมกอดของแม่ที่กำลังลงมือหักข้าวโพดตามคำสั่งของพ่อเลี้ยง

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง