“ดอยธิเบศร์” เปิดข้างหลังภาพ “ถวัลย์ ดัชนี” ที่หายไป

สังคม
20 ก.ย. 61
17:58
11,706
Logo Thai PBS
“ดอยธิเบศร์” เปิดข้างหลังภาพ “ถวัลย์ ดัชนี” ที่หายไป
"ดอยธิเบศร์" ยืนยันการค้นหาภาพ "ถวัลย์ ดัชนี" ที่หายไป ไม่ใช่การแย่งสมบัติ แต่เป็นการปกป้องสมบัติของพ่อเพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติแผ่นดิน

หลังดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทของอาจารย์ถวัล ดัชนี ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ แจ้งความรูปภาพของ อ.ถวัลย์หายไปจากบ้านเกษราฯ 113 รูป มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากประเด็นการโจรกรรมแล้ว สังคมยังพุ่งเป้าไปยังปมมรดกหลักพันล้านของ อ.ถวัลย์

ไม่ใช่ดราม่าแย่งมรดก

ดอยธิเบศร์ยืนยันกับไทยพีบีเอสว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องดราม่าแย่งสมบัติ แต่รูปภาพหายไปจริงจึงต้องดำเนินคดีเพื่อตามภาพกลับมา ในฐานะที่ผมเป็นลูกของ อ.ถวัลย์ จึงต้องรักษาผลงานของพ่อ เพราะผลงานเทียบได้กับลมหายใจของพ่อ และอนาคตจะเก็บรวบรวมรูปไว้ในพิพิธภัณฑ์พร้อมจัดตั้งมูลนิธิเพื่อดูแลผลงาน”

งานพ่อเป็นสมบัติแผ่นดิน ไม่ใช่ของเอามาขาย คนพยายามเบี่ยงประเด็นให้เป็นเรื่องครอบครัว

ด้านคดีความดอยธิเบศร์ ยกหลักฐานสำคัญ คือภาพถ่ายที่บันทึกไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2557 (หลัง อ.ถวัลย์เสียชีวิตวันที่ 3 ก.ย.2557) ที่ยืนยันว่ามีรูปภาพในบ้านเกษราฯ 650 รูป แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปภาพที่มีอยู่ในบ้านเกษราฯ หลังการบันทึกภาพเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 กลับพบว่ามีรูปภาพหายไป 113 รูป

มันไม่ใช่เรื่องแบ่งมรดก แต่เป็นการปกป้องสมบัติพ่อ พ่อเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นหน้าที่ผมที่ต้องปกป้องสมบัติของชาติ
ที่มา เฟซบุ๊ก Doytibet Duchanee

ที่มา เฟซบุ๊ก Doytibet Duchanee

ที่มา เฟซบุ๊ก Doytibet Duchanee


เปิดเส้นทางคดีมรดก “ถวัลย์ ดัชนี”

นับแต่อ.ถวัลย์ ดัชนี เสียชีวิต มีคดีความที่เกี่ยวข้อง 3 คดี คดีแรกเริ่มขึ้นหลังอ.ถวัลย์เสียชีวิตไม่ถึงเดือน เมื่อน.ส.ทิพย์ชาติ วรรณกูล อายุ 71 ปี ภรรยานอกสมรสของอ.ถวัลย์ ฟ้องศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการมรดก

ระหว่างนี้ดอยธิเบศร์ได้บันทึกรูปภาพภายในบ้านเกษราฯ ซึ่งมีทั้งหมด 650 รูป จากนั้นมีการไกล่เกลี่ยคดี 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ

กระทั่งเดือน ส.ค.2558 ศาลชั้นต้น ตัดสินให้ดอยธิเบศร์ เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเดือน พ.ค.2559 ศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินให้ดอยธิเบศร์ เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว

ช่วงปี 2560 เริ่มมีผู้ส่งไฟล์ภาพที่เป็นรูปภาพของอ.ถวัลย์ ให้ดอยธิเบศร์ตรวจสอบ 3 ภาพ ซึ่งดอยธิเบศร์ยืนยันว่าเป็นรูปภาพที่อยู่ในบ้านเกษราฯ ต่อมามีการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ามีรูปภาพหายไปอยู่ในมือผู้ซื้อกว่า 10 รูป จึงนำไปสู่การแจ้งความครั้งที่ 1 ในเดือน มิ.ย.2560

ช่วงเดียวกันนั้น "ป้าอ๊อด" ได้ฟ้องศาลแพ่งคดีที่ 2 ในคดีขอแบ่งมรดก โดยทนายความของ "ป้าอ๊อด" เสนอแบ่งทรัพย์สินสัดส่วน 50 ต่อ 50 และต่อมาคือสัดส่วน 60 ต่อ 40 (ดอยธิเบศร์ 60 และป้าอ๊อด 40)

ขณะที่ดอยธิเบศร์ ยืนยันว่ายังไม่มีการตกลงในสัดส่วนดังกล่าว แต่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการ "จัดทำบัญชีทรัพย์สินใหม่" คือการบันทึกภาพทรัพย์สินในบ้าน 3 หลัง คือ บ้านเกษราฯ บ้านเขาควาย และบ้านดำ

กระทั่งเดือน มิ.ย.2561 มีการบันทึกภาพในบ้านเกษราฯ และบ้านเขาควาย แล้วเสร็จ (การบันทึกภาพในบ้านดำ วันที่ 31 ส.ค. 2561 ถูกยกเลิก และยกเลิกการไกล่เกลี่ยในเวลาต่อมา)

ดอยธิเบศร์ จึงทราบว่า มีภาพในบ้านเกษราฯ หายไป โดยนำไฟล์ภาพเมื่อปี 2557 จำนวน 650 รูป มาเทียบกับรูปภาพที่อยู่ในบ้านเกษราฯ ปัจจุบัน พบว่าหายไป 113 รูป จึงนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

สรุปได้ว่า คดีความเกี่ยวกับมรดกของอาจารย์ถวัลย์มี 3 คดี ได้แก่ 1. คดีแพ่ง กรณีที่ "ป้าอ๊อด" ขอเป็นผู้จัดการมรดกคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาตัดสินให้ดอยธิเบศร์เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว 2.คดีแพ่งกรณี "ป้าอ๊อด" ขอแบ่งมรดก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งมีการนัดสืบพยานในเดือน ม.ค.2562 และ 3. คดีอาญาที่ดอยธิเบศร์ แจ้งความภาพหาย 113 ภาพ คาดว่าจะมีข้อสรุปในสัปดาห์นี้ และจะทยอยติดตามรูปภาพกลับมา

 

เปิดใจความสัมพันธ์ "ดอยธิเบศร์-ป้าอ๊อด"

ดอยธิเบศร์ เล่าว่า เวลาไปหาพ่อก็พบ "ป้าอ๊อด" ตั้งแต่ยังเด็ก และไม่เคยมีปัญหาส่วนตัว แต่ยอมรับว่า "ป้าอ๊อด" มีปัญหากับแม่ (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) เพราะ "ป้าอ๊อด" คือสาเหตุที่พ่อ-แม่มีปัญหากัน แม้แม่ยังมีชีวิตอยู่และสามารถออกมาเรียกร้องได้ แต่เลือกที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนที่อ้างว่าเลี้ยงตนมาตั้งแต่ 3 ขวบนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตอนที่ตนอายุ 6 ขวบ แม่ก็ยังเลี้ยงดูอยู่ ทั้งนี้ส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบเรื่องดราม่า ดังนั้นที่ "ป้าอ๊อด" อ้างว่าถูกดูหมิ่นเหยีดหยามจนต้องไปฟ้องร้องจึงไม่เป็นความจริง

วันพ่อตาย ผมกอดป้า ผมเรียก “พี่อ๊อด” บอกว่าเราจะดูแลกันไป ผมไม่คิดว่าเขาจะต้องการเป็นผู้จัดการมรดก ทำไมไม่พูดกับผม

ขณะที่การโยกย้ายเงินในบัญชีของอ.ถวัลย์ ดอยธิเบศร์ ชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของธนาคารที่ให้รวบเงินไว้ในบัญชีเดียว ซึ่งตนไม่เคยถอนเงินมาใช้จ่าย ขณะเดียวกันทนายความฝ่าย "ป้าอ๊อด"ได้ร้องต่อศาลขออายัดบัญชีไว้แล้วเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2561 (ศาลฎีกาตัดสินดอยธิเบศร์ เป็นผู้จัดการมรดก วันที่ 9 ส.ค.2561)

ผมไม่ได้ใช้เงินสักบาท ทั้งที่รวมแล้วจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ผมหาเงินได้ตั้งแต่อายุ 27 ปี ไม่สนเงิน 30 ล้านหรอก

ดอยธิเบศร์ เปิดเผยว่า หลังจากอ.เสียชีวิต ตนเป็นผู้ดูแลบ้านดำมาโดยตลอด 5 ปี และต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ “หลักล้าน” บาท โดยไม่เคยนำทรัพย์สินของอ.ถวัลย์ไปขาย แต่ยอมรับว่าขายของส่วนตัวบางส่วนเพื่อที่จะนำมาใช้ดูแลรักษาบ้านดำ

ผมไม่เอาของพ่อขาย ผมเอาลมหายใจผม รักษาลมหายใจพ่อ ผมต้องปกป้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง