เตือน "แมงกะพรุนพิษ" ช่วงหน้ามรสุม

สังคม
21 ก.ย. 61
12:28
2,034
Logo Thai PBS
เตือน "แมงกะพรุนพิษ" ช่วงหน้ามรสุม
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังแมงกะพรุนพิษจากการลงเล่นน้ำทะเล โดยเฉพาะในช่วงมรสุม หรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ แนะห้ามขยี้บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน ปีนี้พบผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว 38 คน

วันนี้ (21 ก.ย.61) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่มีมรสุมและฝนตกมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมาก โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ และพบมากขึ้นในช่วงมีมรสุมของปี รวมถึงช่วงฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ โดยเฉพาะทะเลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

จากการตรวจสอบข่าวการระบาดสำนักระบาดวิทยา ในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษชนิดต่างๆ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 38 คน เป็นผู้ป่วยนอก (รักษาแล้วกลับบ้าน) 34 คน ส่วนผู้ป่วยใน (นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) 4 คน และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

สำหรับแมงกะพรุนที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรงคือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องแล้ว 8 คน ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา แมงกะพรุนกล่องมีลักษณะโปร่งใส รูปร่างทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดยื่นออกมาในแต่ละมุม และหนวดอาจยาวพอกับความสูงของคน แมงกะพรุนกล่องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหนวดเพียงเส้นเดียวในแต่ละมุม และชนิดที่มีหนวดหลายเส้นในแต่ละมุม ซึ่งกลุ่มนี้มีหนวดรวมประมาณ 12-15 เส้น และผู้เสียชีวิตในประเทศไทยทุกคนเกิดจากชนิดที่มีหนวดหลายเส้น ซึ่งกระเปาะพิษจะอยู่ที่สายหนวด หนึ่งตัวอาจมีกระเปาะพิษถึงล้านถุง ทำให้แมงกะพรุนกล่องจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องมีพิษ 3 แบบ คือ ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย มีอาการปวดรุนแรง และหากได้รับพิษในปริมาณมากและพิษเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการลงเล่นน้ำทะเล โดยเฉพาะในช่วงมีมรสุม ขณะฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ ให้สังเกตป้ายเตือนนักท่องเที่ยว สวมเสื้อผ้าที่เป็น Lycra suit หรือเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ซึ่งควรเป็นผ้าที่มีเนื้อแน่นและแนบลำตัว

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยถูกพิษแมงกะพรุน ได้แก่ เรียกให้คนช่วย หรือเรียกรถพยาบาล โทร 1669 ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาที, ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงเข็มพิษจากแมงกะพรุน, ถ้าผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจ, ห้ามขัดถูหรือขยี้ รวมถึงห้ามราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงเข็มพิษเพิ่มขึ้น และราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วถึงและต่อเนื่องนานอย่างน้อย 30 วินาที หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง