สทนช.สั่งสำรวจอ่าง-หนองบึง 15 จังหวัดรับน้ำน้อย

ภัยพิบัติ
28 ก.ย. 61
11:05
1,046
Logo Thai PBS
สทนช.สั่งสำรวจอ่าง-หนองบึง 15 จังหวัดรับน้ำน้อย
สทนช.ประสาน 4 หน่วยงานสำรวจแหล่งเก็บน้ำ รวมทั้งหนองบึงในเขต 15 จังหวัดเสี่ยงน้ำน้อย เร่งเตรียมแผนเก็บน้ำเพิ่มสำรองใช้ช่วงหน้าแล้ง หลังแนวโน้มฝนมาอีกระลอกสิ้นเดือนนี้

วันนี้(28 ก.ย.2561) นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิ การสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเหลือเพียงบางจังหวัด เช่น นครนายก และนครศรีธรรมราช ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังเพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังด้วย

ขณะที่จากการติดตามสภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) คาดการณ์ว่าความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้วันนี้ต่อเนื่ง จนถึงวันที่ 1 ต.ค.นี้ ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยจะเริ่มในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมทั้งกทม.และปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป 

จาการวิเคราะห์ว่าแนวโน้มฝนตกระลอกใหม่ จะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเหมือนในช่วงต้นฤดูฝนที่เกิดน้ำท่วมวงกว้าง แต่จะเกิดประโยชน์ในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย

กำชับรับมือสถานการณ์น้ำสำรองหน้าแล้ง

นายสำเริง กล่าวว่า นอกจากนี้ ศูนย์เฉพาะกิจฯ ทำหนังสือแจ้งไปยัง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นผู้รับผิดชอบแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลาง และ เล็ก รวมถึงหนองบึง ที่มีความจุน้อยกว่า 60% รวมทั้งสิ้น 53 อ่างใน 15 จังหวัดในบริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ จ.เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สกลนคร และอุดรธานี ติดตาม และสำรวจปริมาณน้ำเก็บกักปัจจุบัน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อย


หากมีน้ำน้อยและคาดว่าจะไม่เพียงพอในฤดูแล้ง ต้องพิจารณาแผนเก็บกักน้ำจากปริมาณฝนที่ตกลงในอ่างเก็บน้ำโดยตรง ปรับลดการระบายน้ำ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำช่วงที่คาดการณ์ฝนจะตกเพิ่มขึ้นพร้อมแจ้งประชาชนและเกษตรกรเตรียมเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตัวเองเพื่อใช้ในฤดูแล้งอีกทางหนึ่ง

136 เขื่อนยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60%

นายสำเริง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้อยกว่า 60 มีทั้งสิ้น 136 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 9 แห่งในภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 50% เขื่อนลำนางรอง 34% เขื่อนอุบลรัตน์ 33% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 41% เขื่อนทับเสลา 27% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 47%

ส่วนขนาดกลาง 127 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 66 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 18 แห่ง ขณะที่อ่างเฝ้าติดตามน้อยกว่า 30% มีทั้งสิ้น 35 แห่ง  แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 27% เขื่อนทับเสลา 27% ขนาดกลาง 33 แห่ง เป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง