เกาะขอบสนามฟัง "โค้ชนพ" สร้างทีมหมูป่าฯ

30 ก.ย. 61
14:15
408
Logo Thai PBS
เกาะขอบสนามฟัง "โค้ชนพ" สร้างทีมหมูป่าฯ
เปิดใจ "โค้ชนพ" กับการทำทีมหมูป่าอะคาเดมี หลังผ่านเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน เกือบ 4 เดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายกับทีมหมูป่าฯ แต่หัวใจของการทำทีมฟุตบอลเพื่อเยาวชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำทีมฟุตบอลของ "โค้ชนพ"

"โค้ชนพ " หรือ นายนพรัตน์ กันทะวงศ์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี (Teen Talk (หมูป่า) Academy) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงการทำทีมหมูป่าฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ที่ทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต สามารถออกมาจากที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้จากการช่วยเหลือของคนทั้งโลก จึงทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากกมายกับทั้ง 13 ชีวิต รวมถึงทีมฟุตบอลของพวกเขา ที่ขณะนี้ "โค้ชนพ" ต้องดูแลและฝึกสอนนักฟุตบอลหลากหลายอายุรวม 84 คน

 

 

"ทุกวันนี้ ชีวิตผม ไม่ได้มีแค่เด็ก 12 คน ทีมหมูป่า ตอนนี้มีด้วยกัน 84 คน" โค้ชนพ กล่าวพร้อมเล่าต่อว่า ตอนนี้คนที่เข้ามาที่ทีมหมูป่าฯไม่ต้องเตะบอลเป็น เด็กอายุราว 5-6 ขวบ เดินเข้ามาหาหรือพ่อแม่พามาฝากก็รับไว้หมด ซึ่งถ้ามีใจก็อยู่ต่อได้ เพราะหลายคนเห็นฟุตบอล หรือ ทีมหมูป่าฯเป็นกระแส แต่พอได้ฝึกจริงไปสัก 2-3 เดือนก็จากไปโดยบอกว่าบอก "ไม่เอาแล้ว" แต่หลายคนก็อยู่ต่อได้ยาวเพราะใจรัก และเด็กบางคนมีพรสวรรค์จริงๆ

 



"โค้ชนพ" เล่าต่อว่า ไม่ได้หวังว่าเด็กต้องชนะเพียงแค่ต้องการให้เขาได้เรียนรู้ รู้จักตัวเอง รู้จักกีฬาฟุตบอลและพัฒนาตัวเองด้วยใจรัก เรามีหน้าที่แค่สอนเขาและพาเขาไปลงสนามแข่งขันในฟุตบอลรายการต่างๆ เพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์และนี่คือ ความเป็น "หมูป่าอะคาเดมี"

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ที่แวะเวียนไปหา "โค้ชนพ" และเด็กๆ หลายรุ่น ที่กำลังฝึกซ้อมที่สนามกีฬา ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งจากการนั่งมองการซ้อมอยู่ริมสนามฟุตบอลหรือกระทั่งไปพูดคุยกับ "โค้ชนพ" สิ่งที่เห็นและสัมผัสได้คือ สิ่งที่ "โค้ชนพ" เป็นนั้นเป็นมากกว่าคำว่า "หัวหน้าผู้ฝึกสอน"

 

 

ทักษะที่สุดยอด ที่ทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีฯ ได้ติดตัวเป็นพื้นฐานและพัฒนาเป็นความเก่ง คือ การเลี้ยงบอล การส่ง การโหม่ง การยิง และเดาะ แต่ที่สำคัญนอกเหนือจากทักษะต่างก็คือ "หัวใจนักสู้" อันประกอบด้วย ความอดทน รู้แพ้รู้ชนะ และการเรียนรู้ภาษาไทย รวมถึงการพาเด็กๆ ไปตระเวนแข่งฟุตบอลตามลีกต่างๆ หรือ อะคาเดมีต่างๆ จะทำให้เด็กเรียนรู้การแข่งขันและรู้จักประเมินทักษะของตัวเอง

"เด็กบางคน เวลาซ้อม เล่นอย่างเดียวไม่จริงจัง โค้ชจะปล่อย แต่เมื่อเวลาคุณลงสนามคุณจะได้เรียนรู้ว่า ถ้าคุณเตะไม่ดี ทักษะคุณสู้เพื่อนๆ ในทีมไม่ได้และทีมหมูป่าฯ สู้คู่แข่งเขาไม่ได้ เมื่อเด็กกลับมาก็จะได้เรียนรู้ว่าเป็นเพราะอะไร เพราะที่ผ่านมาคุณไม่มีวินัย ไม่จริงจังใช่ไหม เด็กหลายคนกลับมาเขาได้เรียนรู้เองว่า เขาต้องพยายามอีก"

"โค้ชนพ" เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในการแข่งขันฟุตบอลรางวัลเป็นแค่ผลพลอยได้ โค้ชไม่เคยคาดหวังรางวัล โค้ชเพียงแค่สอนให้เด็กรักกีฬาฟุตบอล แล้วพื้นที่แม่สาย พื้นที่ติดชายแดน การดึงให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาที่มีมาเล่นกีฬา รักกีฬา มันเป็นเรื่องสำคัญ


"วีรกรรมเด็กแสบๆ ก็มีเยอะ เวลาซ้อม เดี๋ยวปวดฉี่บ้าง ปวดท้องบ้าง ให้ทำโน่น อ้าว ปวดอีกแล้ว โค้ชผ่านมาหมดแล้ว แต่โค้ชก็ชอบสอนเด็กๆ เพราะเด็กหลายคนมีพรสวรรค์มาก อย่างน้องแม็ค อายุ 6 ขวบ รอเลยอีก 2 ปี เป็นดาวเด่นแน่ ถ้าไม่เลิกเล่นซะก่อน"

หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมฟมูป่าฯ ยังคงเล่าให้ทีมข่าวฟังอย่างออกรสว่า เด็กที่เดินเข้ามาหาทีมหมูป่าฯ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ยาว คนเราจะรู้ว่าชอบจริงๆ หรือ ไม่ชอบ ต้องรออีก 2 ปีถึงจะรู้ ตอนนี้บางคนเพิ่งเริ่มเข้ามาตามกระแสหมูป่าฯ ก็อยากเข้ามา โค้ชก็รับหมด ตั้งแต่เกิดเรื่องหมูป่าฯ ก็มีเด็กๆ มาสมัครเข้าทีมแล้ว 40 กว่าคน แต่ตอนนี้ผ่านไป 3 เดือน ก็หายไปแล้ว 20 คน เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา อยู่ที่ใจเด็กด้วยว่าเขารักเขาชอบฟุตบอลแค่ไหน

 

 

นอกจากนี้ยังมีเสียงเล่าลือที่ว่ากันว่า..โค้ชนพ "ดุ"

"โอ้ยยย โค้ชนี่ใจดี (เสียงสูง) แต่เป็นนางมารในสายตาเด็ก โน่นแม่ศรีเรือนคนนั้น โค้ชเอก (เอกพล จันทะวงษ์) เขาล่ะ เด็กโดนโค้ชนพดุ ก็วิ่งไปหาโค้ชเอก" โค้ชนพ เล่าปิดท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง