เภสัชกรลูกจ้างร้อง สธ.ขอบรรจุเป็นข้าราชการ

สังคม
3 ต.ค. 61
19:42
4,337
Logo Thai PBS
เภสัชกรลูกจ้างร้อง สธ.ขอบรรจุเป็นข้าราชการ
วานนี้ (2 ต.ค.) เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวแห่งประเทศไทยไปขอความเป็นธรรมจากนายกฯ และกระทรวงสาธารณสุขให้จัดสรรตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการ ขณะนี้มีเภสัชกรที่รอบรรจุ 444 คนทั่วประเทศ ด้านผู้บริหาร สธ.ยืนยันจะบริหารจัดการอัตรากำลังคนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ภญ.สิริวรรณ จินดากุล คือหนึ่งในคนที่มาเรียกร้อง เธอทำงานในโรงพยาบาลรัฐมาเกือบ 6 ปี ไม่ใช่แค่หน้าที่จ่ายยา แต่ยังต้องดูแลผู้ป่วยนอกอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และวัณโรค จากการที่โรงพยาบาลมีบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งหากได้รับการบรรจุ สวัสดิการที่ได้รับก็จะเป็นขวัญและกำลังใจจากความเสี่ยงตลอดการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ ภญ.ปิยะภากร ผลภิญโญ ประธานเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความแตกต่างด้านสวัสดิการระหว่างข้าราชการประจำและเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวบางส่วน โดยหากเป็นข้าราชการประจำจะได้รับสิทธิ์การเบิกค่ารักษาพยาบาล การศึกษาบุตร ค่าเช่าบ้าน มีเงินกองทุน เกษียณอายุ 60 ปีมีบำเหน็จบำนาญ ส่วนลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว แต่ได้รับต่อสัญญาทุก 4 ปี ลากิจถูกหักเงิน สะสมวันลาไม่ได้ และอัตราตั้งใหม่ที่จะรับเพิ่มในปีงบประมาณ 2562 - 2569 ไม่มีตำแหน่งของเภสัชกร เภสัชกรลูกจ้างชั่วคราว จึงมีความไม่มั่นคงและมองว่านี่อาจเป็นความเลื่อมล้ำทางวิชาชีพ

นอกจากนี้ ภญ.ปิยะภากร ยังเป็นเภสัชกรประจำโรงพยาบาลหนองเรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เพียงคนเดียวในเภสัชกร จำนวน 9 คนของโรงพยาบาลหนองเรือ ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งกว่า 6 ปีที่ ภญ.ปิยะภากร ตัดสินใจทำงานภายในโรงพยาบาลรัฐในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว จนเมื่อ 2 ปีก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสัญญาจ้างเพียง 4 ปี ซึ่งเธอมองว่ายังไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตการทำงานได้ แต่ความคาดหวังที่ตั้งใจว่าอยากเป็นข้าราชการ ทำให้เธอยังทำงานตำแหน่งนี้ภายในโรงพยาบาลของรัฐ

ไม่ต่างจากรุ่นพี่อีกจำนวนไม่น้อยที่เคยเข้าทำงานในตำแหน่งลูกจ้าง จนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดย ภญ.สุรีพร จุ้มชัยภูมิ รุ่นพี่เภสัชกรที่เคยเป็นลูกจ้างชั่วคราว สะท้อนปัญหาให้ฟังว่า เภสัชกรทุกคนไม่ว่าจะได้รับการบรรจุหรือไม่ ต้องทำงานเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเภสัชกรรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ก็จะได้รับการมอบหมายให้ทำงานที่ยากขึ้น แต่กลับไม่สามารถนำมาเป็นผลงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าได้ เนื่องจากเป็นเพียงลูกจ้าง

รายได้แตกต่างระหว่างเภสัชกรข้าราชการ-ลูกจ้าง

ผลตอบแทนที่ต่างกันเกือบเท่าตัวระหว่างเภสัชกรที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการที่ไม่ต่ำกว่า 18,000 - 19,000 บาท พร้อมสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่ผลตอบแทนของลูกจ้าง ต้องได้รับเงินเดือนตามที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นผู้จัดสรรให้ไม่เกิน 13,000 บาท รวมถึงความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทยทั่วประเทศออกมาเรียกร้องสิทธิ์

ทั้งนี้ จำนวนเภสัชกรที่มีบุคลากรจบใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,700 คน ขณะที่สัดส่วนอัตราการรับบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งนี้มีเพียง 350 คนต่อปี และพบว่าที่ผ่านมายังต้องจับสลาก ทำให้เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทยออกมาเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการตำแหน่งว่างที่ไม่ใช่อัตราตั้งใหม่ในการบรรจุข้าราชการต่อเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงพนักงานราชการที่ทำงานมาก่อน

สธ.เร่งบรรจุบุคลากรเป็นข้าราชการ

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าพยายามบริหารจัดการอัตรากำลังคนอย่างเหมาะสมและให้เกิดความเป็นธรรม แต่ยอมรับว่าอัตราบรรจุตำแหน่งข้าราชการมีน้อยและพยายามเพิ่มเติมสวัสดิการด้านอื่นๆ

นายสรรเสริญ นามพรหม ผู้อำนวยการกองบริหารงานทรัพยากรบุคคล กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้มีอัตรากำลังคนประมาณ 400,000 คนทั่วประเทศ แบ่งเป็นข้าราชการประมาณ 200,000 คน ที่ผ่านมามีวิธีเข้ารับราชการแตกต่างจากกระทรวงอื่น คัดเลือกโดยไม่ต้องสอบภาค ก. เมื่อมีตำแหน่งว่างจึงคัดเลือกได้ทันที และอีกส่วนต้องสอบแข่งขันภาค ก. ซึ่งมีปัญหาพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมีตำแหน่งว่างน้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ก็พยายามบรรจุตำแหน่งให้เร็วที่สุด รวมทั้งทำบัญชีเพื่อใช้ในการบรรจุเข้ารับราชการด้วย คาดว่าปีนี้ได้วางโครงสร้างและอัตรากำลังไว้แล้ว โดยจะพยายามบรรจุให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัด

ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รักษาราชการแทนตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำงานภายในกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วยหลายสายงาน และมีรูปแบบการจ้างที่หลากหลาย มีทั้งข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และอื่นๆ ซึ่งการบริหารจัดการกำลังคนต้องให้เหมาะสมกับภาระงาน แต่ยืนยันว่าให้ความสำคัญทุกตำแหน่งอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

ส่วน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาของเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราว และพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา เพราะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน จึงพยายามจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ ล่าสุดได้จัดสรรงบประมาณจัดสร้างบ้านพักบุคลากรใหม่กว่า 7,000 หลัง เพื่อรองรับบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัย แต่ยังขาดที่พักอีกกว่า 60,000 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง