ย้อนรอย เหตุพิพาท "คอนโด-ชุมชน"

สังคม
4 ต.ค. 61
14:55
1,639
Logo Thai PBS
ย้อนรอย เหตุพิพาท "คอนโด-ชุมชน"
ข้อร้องเรียนวัดตีระฆังเสียงดัง กลายเป็นข้อพิพาทใหม่ระหว่างคนในคอนโดฯ วัดและชุมชน ซึ่งแม้ว่าวันนี้อาจจะมีทางออกร่วมกันในทางที่ดี แต่จากการตรวจสอบก่อนหน้านี้ก็มีข้อพิพาทหลายเหตุการณ์ระหว่างคอนโดฯ กับชุมชนดั้งเดิม ทั้งเรื่องทัศนียภาพ มลพิษระหว่างก่อสร้าง

กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในพื้นที่เขตบางคอแหลม ที่มีลูกบ้านในคอนโดมิเนียมหรูร้องเรียนผลกระทบเสียงดังจากการตีระฆังของพระที่วัดไทร นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางของสังคม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ก่อนหน้านี้ก็มีข้อพิพาทหลายเหตุการณ์ถึงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมภายในชุมชนที่สร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่

23 พ.ค.54  ชาวบ้าน 39 คนในซอยชินเขต รวมกันฟ้องร้องผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโดฯ “ดิ แอสปายคอนโด งามวงศ์วาน” ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ผอ.สำนักโยธา ผอ.เขตหลักสี่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและการบริการชุมชน (คชก.) และบริษัทเดอะแวลู พร๊อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของคอนโดมิเนียมดังกล่าว ข้อหาสร้างคอนโดมิเนียมบดบังทัศนียภาพ 

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ กทม.จ่ายค่าชดเชยให้ผู้ฟ้องคดีรายละ 68,900 บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 23 พ.ค.2554 เป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

เดือน ต.ค.2556 ยังมีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ในซอยพหลโยธิน 23 ที่ต้องยกเลิกการก่อสร้างและคืนเงินจองให้ลูกค้า เนื่องจากทั้ง 2 โครงการติดขั้นตอนของการขออนุญาตสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ขั้นตอนสำรวจความเห็นประชาชนใกล้เคียง จึงยกเลิกการก่อสร้าง


เดือน ส.ค.2557 โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 53 ชั้น บริเวณใกล้ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี ที่ถูกร้องเรียนเนื่องจากตัวตึกบดบังทัศนียภาพเมืองพัทยา จนถูกระงับการก่อสร้างชั่วคราวและต่อมาโครงการได้ตัดสินใจลดความสูงของคอนโดมิเนียม เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพตามคำสั่งของเมืองพัทยา

รื้อโรงแรมในซอยร่วมฤดี

วันที่ 30 ก.ย.2559 ศาลปกครองกลาง อ่านคำสั่งการบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ 1475/2551 ที่ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย และชาวบ้านที่พัก ซ.ร่วมฤดี รวม 24 คน ร่วมกันยื่นฟ้อง ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 กรณีปล่อยให้บริษัทเอกชนก่อสร้างอาคารโรงแรมดิเอทัสและเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ ที่มีความสูงเกิน 23 เมตร โดยไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่กำหนดว่าการก่อสร้างอาคารขนาดความสูงดังกล่าวจะทำไม่ได้ในพื้นที่ที่มีเขตถนนซอยกว้างน้อยกว่า 10 เมตร

เดือน พ.ย.2560 ตัวแทนกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท ได้เข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหลายแห่งในซอยพหลโยธิน 5,7,8,9,10,11 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการจราจร การระบายน้ำ และเศษวัสดุก่อสร้างหล่นลงมายังบ้านเรือนใกล้เคียง รวมถึงผู้อาศัยได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีคอนโดมิเนียมอย่างน้อย 20 โครงการแล้ว

และในเดือน มี.ค.2561 โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนสีน้ำเงินย่านบางซื่อ โดยได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการก่อสร้าง และบ้านร้าวหลาย หลัง เนื่องจากชุมชนอยู่ติดกับการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งชาวบ้านได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตเพื่อตรวจสอบแล้ว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง