ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องราวของ "ปู่คออี้" ?

สังคม
5 ต.ค. 61
09:33
3,276
Logo Thai PBS
ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องราวของ "ปู่คออี้" ?
ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เผยข้อความบอกเล่าเรื่องราวของปู่คออี้ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม หลังเกิดกรณีพิพาทกับภาครัฐที่ออกนโยบายที่ละเลยสิทธิของคนชายขอบ

วันนี้ (5 ต.ค.61) เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เผยแพร่ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Pai Deetes" โดยระบุถึงเรื่องราวของนายโคอิ มีมิ หรือ ปู่คออี้ กับเรื่องราวการต่อสู้ของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยมีข้อความดังนี้

ปู่คออี้ เสียชีวิตแล้วในวัย 107 ปี

ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องราวของปู่ ?

สรุป เรื่องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน Dispossessed- the stolen livelihoods of the Karen community (Ban Bangkloi Bon)

1.ชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งครอบครัวของปู่คออี้ ชาวบ้านบางกลอย (หรือใจแผ่นดิน) ในป่าแก่งกระจาน ชายแดนไทยพม่า อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาใบค้อ ไม่มีสิ่งก่อสร้างถาวร ทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าว พริก เผือก มัน ผัก มีสวนทุเรียนในป่า จับปลา ใช้ชีวิตแบบกลมกลืนกับป่า-ธรรมชาติ ติดต่อภายนอกน้อยมาก ที่ใจแผ่นดินสูง 900 กว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศเย็นสบาย

2.ปู่คออี้ เกิดเมื่อ พ.ศ.2454 ตามบัตรประชาชน พ่อของปู่ก็เกิดที่นี่

3.พ.ศ.2524 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

4.พ.ศ.2539 อุทยานฯ อพยพชาวบ้านบางกลอย ลงมาอยู่ในแปลงจัดสรร ที่บ้านโป่งลึก (เรียกว่า โป่งลึก-บางกลอยล่าง)จำนวน 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน

5.แต่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ทำกินเพียงพอ ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตกะเหรี่ยงไม่ได้ ที่ทำกินที่ใหม่เป็นดินหินแข็ง เพาะปลูกแทบไม่ได้ ที่ดินจัดสรรบางแปลงทับที่ชาวบ้านเดิม ฯลฯ ส่วนหนึ่งจึงกลับไปยังหมู่บ้านเก่า ที่บางกลอยบน เพื่อดำรงวิถีเดิม

6.พ.ศ.2554 "ยุทธการตะนาวศรี" นำโดยอุทยานฯ ไปย้ายชาวบ้านลงมาอีกรอบ และเผาทำลายบ้าน (หรือที่ทางการเรียกว่า เพิงพัก) +ยุ้งข้าว มองว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นอุปสรรคในการอนุรักษ์ป่า

7.จำง่ายๆ คือ ตอนที่มี ฮ. ตก 3 ลำ คือเกิดจากเหตุการณ์นี้

8.ชาวบ้านที่ย้ายลงมา รวมทั้งปู่ ไม่มีที่ทำกินเพียงพอ อยู่ไม่ได้ ไม่มีข้าว สูญเสียวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม จนนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง

9."บิลลี่" อบต.หนุ่ม หลานปู่ ซึ่งเป็นคนหลักในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านกรณีนี้ ถูกอุ้มหายเมื่อ เมษายน 2557

10.กรณีของปู่คออี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของ structural violence ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ระบบรัฐไทยไม่เห็นสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย-คนชายขอบ สิทธิของชุมชนดั้งเดิมในการอยู่อาศัย และร่วมจัดการ-อนุรักษ์ทรัพยากร ไม่มีอยู่จริง (คล้ายกรณีพิพาทที่ดินชายทะเล ของชาวเลดั้งเดิม ที่หาดราไวย์ ภูเก็ต แต่โดนบริษัทมาออกโฉนดทับชุมชน ฯลฯ)

11.ชวนดูหนังสั้นที่บิลลี่ทำเอง สะท้อนเรื่องราวของคนบางกลอย และสะท้อนผลกระทบของปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้อย่างถึงแก่น 

 

 

ปู่บอกว่า "เราไม่ได้ไปแย่งที่ของใครมา
รอยเท้าของเรายังอยู่ที่ที่ของเรา
พ่อแม่ปู่ย่า ทำกินมาแต่ไหนแต่ไร
ต้นไม้ ต้นไผ่ ยังเขียวชอุ่ม"

 

อ่านเพิ่มเติม 

สิ้น "ปู่คออี้" ผู้อาวุโสแห่งป่าแก่งกระจาน วัย 107 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง