นิติวิทยาศาสตร์พร้อมพิสูจน์ดีเอ็นเอ "ซากหมีขอ" 1 เดือนรู้ผล

สิ่งแวดล้อม
10 ต.ค. 61
12:28
1,969
Logo Thai PBS
นิติวิทยาศาสตร์พร้อมพิสูจน์ดีเอ็นเอ "ซากหมีขอ" 1 เดือนรู้ผล
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค นำของกลางและวัตถุพยาน ในคดีล่าหมีขอ ส่งหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าเป็นซากของหมีขอจริงหรือไม่ คาด 1 เดือน รู้ผล

วันนี้ (10 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค นำโดยน.ส.ภควดี ยกสิทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ นายกอบชัย อรรคอุดม และนายฉัตรชัย ทองวิไล ได้นำของกลางซากสัตว์ป่าและวัตถุพยานจากคดีล่าหมีขอ ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติไทรโยค มาส่งมอบให้กับ ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้ว


เบื้องต้น ของกลาง และวัตถุพยานที่นำมาส่งมอบมี จำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย ซากอุ้งตีนหมีขอ 4 ซาก ฟันกรามของสัตว์ ขนสีดำ เศษกระดูก มีดพร้า 3 ด้าม มีดทำครัว หม้อทำครัว  ไฟฉายคาดหัว คราบไขมัน คราบเขม่าดินปืน และถุงพลาสติก 

 


ทั้งนี้ หลังจากได้รับตัวอย่างซากอุ้งตีนหมีขอ และวัตถุพยานต่างๆ ที่เก็บจากพื้นที่มาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการตรวจดีเอ็นเอว่าเป็นหมีขอหรือไม่ รวมทั้งต้องการพิสูจน์ว่าซากชิ้นส่วนทั้งหมดที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุเป็นสัตว์ป่าชนิดเดียวกันหรือไม่ ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน

ซากที่ได้รับแม้จะผ่านการต้มหรือเผามาแล้ว และมีลักษณะการตัดชำแหละชิ้นเนื้อออกไป แต่สภาพชิ้นเนื้อยังสดอยู่มาก ไม่ยากที่จะสกัดดีเอ็นเอ มาตรวจว่าเป็นสัตว์ป่าชนิดไหน  

 

 

หัวหน้าหน่วยปฎิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กล่าวว่า โจทย์หลักต้องเร่งตรวจดีเอ็นเอให้รู้ชนิดของสัตว์ป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หรือไม่ ซึ่งตั้งสุมมติฐานว่าเป็นหมีขอ และตรวจหาความเชื่อมโยงเกี่ยวของวัตถุพยานของคดีนี้ ด้วยการใช้นิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ว่าซากต่างๆเป็นสัตว์ตัวเดียวกันหรือไม่

 

 

โดยใช้เทคนิคพิเศษตรวจด้วยไมโครแซทเทลไลท์ในห้องปฏิบัติการของกรมอุทยานฯ ถือเป็นการหาพฤติกรรมการล่าสัตว์ป่าขยายผลในคดีล่าหมีขอได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งจากซากและวัตถุพยานที่ส่งมาก็จะทำให้บอกได้ว่าหมีถูกล่าจากในพื้นที่หรือไม่ 

เบื้องต้นจากลักษณะซากสัตว์ป่า ที่เห็นเป็นสัตว์ป่าในตระกูลชะมดหรืออีเห็น ซึ่งหมีขอเป็นสัตว์ในตระกูลนี้ จึงคาดว่าจะเป็นหมีขอ และจากซากที่ได้รับมาสัตว์ตัวนี้ ขนาดตัวอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่ถ้าจะให้ชัดต้องรอผลพิสูจน์ดีเอ็นเอ 

 

เมื่อถามว่าถ้าเทียบกับคดีเสือดำของนายเปรมชัย กรรณสูต การตรวจพิสูจน์มีความต่างกันหรือไม่ ดร.กณิตา กล่าวว่า ทั้งสองคดีมีความคล้ายกันและไม่ยาก เพราะคำตอบคือ ต้องหาดีเอ็นชนิดของสัตว์ป่าว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่ เพื่อเป็นหลักฐานในคดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"อส.ออย" รับเอง ยิง "หมีขอ" สารภาพกับศรีวราห์

"ศรีวราห์" สอบปากคำ หามือยิง "หมีขอ"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง