เปิดใจ "หมอประสิทธิ์" 2 ปีแห่งพลังทำต่อไป ณ ศิริราช

ไลฟ์สไตล์
13 ต.ค. 61
12:05
907
Logo Thai PBS
เปิดใจ "หมอประสิทธิ์" 2 ปีแห่งพลังทำต่อไป ณ ศิริราช
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล “ดอกผลของความยั่งยืน สืบทอดความดีงาม ตามศาสตร์พระราชา”

ผ่านมา 2 ปีแล้ว ความรู้สึกของอาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง?  

ในความรู้สึกของพวกเราชาวศิริราช ผมคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกนึกถึงพระองค์ท่านไม่ได้ด้อยลง จนถึง ณ วันนี้ เราเดินไปเดินมาในศิริราชเราก็ยังมีความรู้สึกว่าท่านก็ยังอยู่ อยู่กับเรา แต่สิ่งที่ต่างกันคือเพียงแค่ร่างพระองค์ท่านอาจจะไม่อยู่กับเรา เรายังมีพื้นที่ในศิริราชหลายที่ที่ท่านเคยเสด็จไปมา ทุกครั้งที่เราไป ทุกครั้งที่เราเห็นคนไข้เข้าไปรักษาที่ศิริราช เราก็ยังนึกถึงพระองค์ท่าน ยังนึกถึงสิ่งที่พระองค์ท่านฝากให้ชาวศิริราชสืบสานสิ่งที่อยู่ในพระทัยของพระองค์ท่าน นั้นคำตอบคือคิดถึงท่านและก็ยังตั้งใจนำสิ่งดีดีที่ท่านพระราชทานให้กับพวกเราสืบสานสิ่งเหล่านี้ต่อไปตลอดชีวิต

พระราชดำรัสของพระองค์ท่านคำว่า “ทำต่อไป” ในหลายครั้งหลายโอกาส?

ย้อนกลับไปในช่วงที่ผมมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เวลานั้นคนไข้เยอะ ปัญหาต่างๆ ก็เยอะมาก ในช่วงนั้นบังเอิญได้เข้าเฝ้าท่านที่พระราชวังไกลกังวล ก็กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อท่านจะทรงมีข้อแนะนำอะไรบ้าง และระบายด้วยส่วนหนึ่ง ระบายสักพักหนึ่งท่านก็หันมาแย้มพระสรวล “ทำต่อไป” แล้วก็หันพระพักตร์กลับไป

แต่ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตผม เพราะว่าทรงหันมาแย้มพระสรวลให้กำลังใจ ปัญหาที่เราพูดมาทั้งหมดทำต่อไปแบบว่ายังไงๆ เราก็ต้องทำต่อ สิ่งดีๆ หยุดไม่ได้ แล้วก็แทนที่จะมานั่งบ่น ผมก็หยุดตั้งแต่วินาทีนั้น หยุดบ่นแล้ว หมายถึงเอาเวลาที่นั่งบ่นมานั่งนึกดีกว่าว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านั้นอย่างไร แล้วก็ทำต่อไปจริงๆ

สิ่งที่ผมอยากฝากคนไทย เราเจอปัญหาเยอะมาก บ่อยครั้งพอเจอปัญหาเราหยุดแล้วก็มานั่งบ่นๆๆๆ แล้วเราก็ไม่ได้ทำ ทำต่อไป ความหมายที่พระองค์ท่านว่าคือ มันเป็นความเพียรอย่างหนึ่ง ถ้าตั้งใจทำสิ่งดีๆ อุปสรรคเหล่านี้มีไว้เพื่อเรียนรู้ มีไว้เพื่อคิด แล้วก็ทำ อย่าท้อ แล้วทำต่อไป

 

หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสไปเห็นตอนที่ท่านเสด็จไปทางภาคเหนือ ภูเขาที่ร้อนกว่าจะเต็มไปด้วยภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้เ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนสองเดือนหรือปีสองปี แต่เกิดขึ้นมาเป็นสิบปี เวลาจะเปลี่ยนวัฒนธรรมคนในชุมชนที่ทำบางอย่างที่อาจจะไม่คุ้มครองดูแลป่า ให้กลายเป็นมาช่วยดูแลป่า เปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนทัศนคติของคน สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาเยอะมาก แล้วก็ท่านก็ทรงเจอกันอุปสรรคมากมาย แต่ท่านทำต่อไป

จนถึง ณ วันนี้คำว่าทำต่อไปเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวตนผมแล้ว ผมคิดว่าตราบใดมีชีวิตอยู่ก็ทำต่อไป อยากชวนคนไทยทั้งประเทศทุกวันที่ 13 ต.ค.นี้ รีเฟรชตัวเองมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าปีที่ผ่านมาได้ทำอะไร ได้หยุดอะไร ไม่ได้ทำอะไร

แล้วก็ถ้าเป็นไปได้ทุกวันที่ 13 ต.ค.เรามาตั้งใจกันไหมว่าหนึ่งปีข้างหน้านี้เราจะทำอะไร แล้วพอถึง 13 ต.ค.ปีหน้าก็กลับมาทบทวนสิ่งที่ผ่านมาเราได้ทำหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำ ทำไมถึงไม่ได้ทำ แล้วจะทำอะไรต่อไปอีก ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ พระองค์ท่านจะไม่หายไปจากความทรงจำของเรา

13 ต.ค.นี้ อาจารย์ตั้งใจจะถามตัวเองอย่างไร มีคำตอบอย่างไรบ้าง

สิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจตลอดชีวิตที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ในเวลานี้บทบาทใหญ่ของเราคือสุขภาพ ดูแลสุขภาพของคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่สุขภาพดีแต่เสี่ยง ตอนนี้ศิริราชก็ขยายวงออกไป ไม่เลิกเรื่องเหล่านี้ตราบใดที่ทำได้ก็ทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ยังอยากจะศึกษาต่อไปอีกผมคิดว่า ท่านเป็นผู้ที่ดำรงตนเพื่อผู้อื่น 70 ปี ของท่านท่านทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ เราอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเหมือนพระองค์ท่าน แต่อย่างน้อยก็ตั้งใจที่จะทำแบบพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่มีที่ใดที่เราสามารถไปช่วยนอกเหนือจากพื้นที่ในศิริราชเอง ที่ใดก็แล้วแต่ที่เราสามารถไปช่วยได้เป็นความตั้งใจ

ชีวิตผมเกินพอแล้ว คือคนเราอาจจะตั้งเป้าหมายในชีวิต เป้าหมายในชีวิตเบื้องต้นอาจจะเพื่อตัวเราเอง เพื่อครอบครัว แต่ถึงจุดจุดหนึ่ง ณ วันนี้เป้าหมายชีวิตผมขณะนี้เพื่อสืบสานสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ อย่างน้อยๆ ก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมเชื่อว่ามีอีกเยอะมากที่จะสืบสานสิ่งเหล่านี้ต่อไป ถ้าเราร่วมกันทำสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ว่างๆ หยิบพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านมาดู อ่านแต่ละครั้งได้แนวคิดใหม่ๆ ขึ้นเสมอ เพราะพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านสอดคล้องกับเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ applied ได้ตลอดเวลา แล้วเราจะได้ไอเดียในเรื่องบางเรื่อง

ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 16 จนถึง ณ วันนี้ บางครั้งมีเรื่องบางเรื่องในคณะที่แก้ปัญหาไม่ตกผมก็ยังชอบไปนั่งเงียบๆ อยู่บนนั้น และได้ solutions เยอะมาก นั่งเงียบๆ อยู่บนนั้น นั่งนึกถึงสิ่งที่ท่านเคยรับสั่งบ้าง แล้วบ่อยครั้งเดินกลับลงมาด้วยพลังที่เพิ่มขึ้น และสำคัญคือกลับลงมาด้วย solutions ผมคิดว่าท่านยังอยู่ในศิริราช ท่านยังช่วยเราคิดแก้ปัญหาอีกหลายๆ เรื่อง ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่ท่านพระราชทานไว้เมื่อไหร่มันมีคำตอบกลับมาเอง ผมตอบไม่ได้ทำไม แต่จนถึงทุกวันนี้ผมยังเชื่อว่าท่านยังช่วยอยู่

ถ้าหากว่าจะมีส่วนในการร่วมสืบสานสิ่งที่พระองค์เคยพระราชทานไว้

ท่านเคยรับสั่งกับสมเด็จพระเทพไว้ว่าพระองค์ท่านมี 2 หน้าที่ หน้าที่ตัวเองคือหน้าที่ของพระราชา พระเจ้าแผ่นดินหน้าที่นี้เราคงไม่อาจเอื้อมอยู่แล้ว แต่หน้าที่ที่สองคือหน้าที่เป็นพลเมืองดีของประเทศไทย ผมคิดว่านี่สำคัญ พลเมืองดีของประเทศไทยคือผู้ที่จะทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศ และทำสิ่งดีเหล่านั้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องได้กลับคืน การทำสิ่งดีให้กลับประเทศเริ่มตั้งแต่ตัวเราเอง การประหยัดเป็นสิ่งดีๆ ที่ทุกคนทำได้ และสามารถทำให้ประเทศดีขึ้นได้ แม้แต่พระองค์ท่านก็ยังทำ เราคงเห็นหลอดยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่านเป็นตัวอย่าง

หนึ่งรู้จักประหยัด รู้จักทำเพื่อส่วนรวม แบ่งส่วนเกินของเราให้กับคนอื่น หมั่นใส่ใจคนอื่นที่เขาเดือดร้อนมากกว่าเรา จัดสรรเวลา ถ้าเป็นไปได้จัดสรรเวลาบางส่วนของเราคืนให้กับสังคม ความเป็นคนไทยที่ดีทำประโยชน์คืนให้กับสังคม

ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ท่านอยากให้คนไทยทุกคนมีสิ่งนี้อยู่ในตัวตนของเรา การทำสิ่งดีคืนประโยชน์ให้กับสังคมทำได้ทุกหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ ทุกๆ หน้าที่ ทุกๆ อาชีพสามารถทำได้ทั้งนั้น บทบาทหน้าที่เราคืออะไร คือทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดในฐานะที่รับผิดชอบหน้าที่นั้น และอีกหน้าที่หนึ่งในฐานะที่เป็นคนไทยเหมือนที่พระองค์ท่านรับสั่ง ถ้าพระองค์ท่านมีหน้าที่ที่ unique ของพระองค์ท่านเองคือพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ฟังจากรายการนี้เป็นครู หน้าที่ของท่านคือครู

 

อยากให้คนไทยทำแบบนี้ ถ้าเมื่อไหร่เราทำแบบนี้เราจะหลุดจากกิเลส จากหลายๆ เรื่องอัตราตัวเราลดลง เราจะรู้สึกมีความสุขในการทำสิ่งดี ๆ แล้วมันคือรางวัลที่ดีที่สุดที่เราจะได้รับ แล้วถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านจะพอพระทัยถ้าคนไทยเข้าใจความหมายสิ่งเหล่านี้ ปัจจุบันเรามีคนทำสิ่งดีๆ ก็เยอะ ไม่ทำสิ่งชั่ว ๆ ก็เยอะ แต่การปิดทองหลังพระ ก็ครบสามองค์ประกอบของศาสนาพุทธ คือ ทำดี ละชั่ว และทำใจให้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีคนชม ฉันก็ทำ

ประชาชนร่วมแรงร่วมการสร้างอาคารนวมินทรบพิต 84 พรรษา

โครงการอาคารนวมินทรบพิต 84 พรรษา นี้เกิดขึ้นตอนที่รัชกาลที่ 9 เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตอนที่ท่านพระราชทานพระนามนวมินทรบพิต 84 พรรษา นวนพ คือ เก้า อินทรบพิต กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่รัชกาลที่ 9 84 พรรษา ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เพียงแต่รู้อย่างเดียว ตอนที่เราเสนอโครงการนี้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าเราทุบอาคารเดิม 3 ชั้นสร้างอาคารหลังนี้ เพราะต้องการสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นผมคิดว่าท่านตัดสินพระทัยอยู่แล้วที่จะสนับสนุนเพราะท่านพระราชทานนามลงมา

ความตั้งใจเวลานั้นคือว่า เราอยากให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้ง 67 ล้านคนร่วมกับพระองค์ท่านทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้นได้ จริงๆ ตอนนั้นตั้งใจว่าท่านจะได้ทรงอยู่ทรงเปิดอาคารหลังนี้เองด้วยพระองค์ท่าน ผมคิดว่านี่เป็นอาคารซึ่งคนไทยทั้งประเทศสนับสนุนให้เกิดขึ้น เงินที่หลากหลายบริจาคมาทำให้เกิดขึ้น เป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการคนมีฐานะร่ำรวยอย่างเดียว จะเห็นว่ากลไกลวิธีการที่ชวนมาทั้งหมดนี้ ทุกๆ บาท ก็มีส่วนช่วยแล้ว เรามีกระบวนการตู้ที่สามารถหยอดเพื่อสมทบทุนสร้างอาคารหลังนี้ ซึ่งจนถึง ณ วันนี้ เราได้รับเงินบริจาคที่เข้ามาจนทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน

แล้วก็มีเงินเก็บไว้สำหรับการดูแลรักษาอาคารหลังนี้ เราเข้าสู่แนวคิดใหม่ อาคารหลังนี้ต้องให้บริการที่ดีที่สุด เพราะนี่เป็นสิ่งที่ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ตอนนี้เราก็รณรงค์เพื่อหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผมยืนยันว่าอาคารหลังนี้จะมีอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ผู้ป่วยด้อยโอกาสของประเทศไทยต้องได้รับที่ไม่ด้อยไปกว่าคนที่มีโอกาสอื่น ๆ  เพราะนี่คือสิ่งที่ท่านตั้งพระทัยไว้ และเป็นสิ่งที่เราจะสืบสานพระราชดำรัช ผมจะพูดหลายครั้งว่า ในช่วง 70 ปี การครองราชย์ของพระองค์ท่านสัมพันธ์กันหมด เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และสุขภาพ 7 เรื่องนี้เชื่อมโยงกันไปทั้งหมด อาคารหลังนี้จะทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร การศึกษาที่ดีสุขภาพก็ดี สุขภาพที่ดี เศรษฐกิจก็ดี ความรู้ดี สิ่งแวดล้อมก็จะดี เหล่านี้ผูกกันไปหมด เราต้องการให้อาคารนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนไทยเข้าใจศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ 9 ที่ถูกอันเชิญอยู่ในที่ต่าง ๆ อาคารหลังนี้

การสร้างสุขภาวะตามแนวทางของพระองค์ ถูกย่อส่วนมาอยู่ในอาคารนวมินทรบพิต 84 พรรษา

เราอยากให้สุขภาพคนดีขึ้น สุขภาพกาย สุขภาพใจ ญาติที่มาเยี่ยมคนไข้ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าจะนึกถึงพระองค์ท่าน แล้วหลายท่านคงอยากจะเจริญรอยตามพระยุคคลบาท นี่คือการยกระดับจิตใจ คนไข้ที่มาที่นี่ที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้เห็นสิ่งเหล่านี้ระหว่างที่เขาฟื้นดีขึ้น ผมเชื่อว่าหลายท่านก็อยากจะสืบสานพระราชปนิธานพระองค์ เราอยากให้อาคารเหล่านี้หล่อหลอมคนไทยให้เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ เราอยากให้สิ่งที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นนามธรรม ศาสตร์แห่งพระราชาหลายคนเข้าใจว่าเป็นนามธรรมนึกไม่ออกให้กลายเป็นรูปธรรมที่สามัญชนอย่างพวกเราสามารถทำได้ แหละนั่นคือการตอบแทนพระองค์ท่านที่ดีที่สุด

ถ้ามีความสุข ร่างกายก็จะไม่เจ็บป่วย โรงพยาบาลไม่แออัด

คำสอนพระองค์หลายอย่างให้เราดูแลสุขภาพ อย่างที่ผมเรียนว่า เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สุขภาพเราดีขึ้น หลายคนไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ก็เลยทำให้สุขภาพแย่ลง เพราะไม่ได้เอาเรื่องเหล่านี้เข้ามาในชีวิตของตัวเอง ถ้าได้ไปทบทวน ครอบรอบ 2 ปี ในศิริราชเราก็จะมีนิทรรศการต่าง ๆ หลายอย่าง อยากเชิญชวนให้เรากลับไปน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านแล้วเรามาทำ

ตั้งความหวังไว้เต็มที่ว่าอาคารนี้เราจะเปิดวันที่ 5 ธันวาคม อาคารหลังนี้จะสมบูรณ์แบบเต็มที่ เพราะตั้งแต่แนวคิดพระนามที่พระราชทานลงมา แล้ววันที่เปิดอาคารก็เป็นวันที่ 5 ธันวาคม วันนั้นผมอยากชวนคนไทย ก็คงเป็นอีก 1 วันที่จะทำให้คนไทยนึกถึงพระองค์ท่าน

อาคารหลังนี้เราเติมเต็มขึ้นไปอีก ตอนนี้จะมีเครื่องรังสีรักษาเพื่อต้องการให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปัจจุบันศิริราชมีเครื่องรังสีรักษาฉายแสงมะเร็ง 3 เครื่อง ในอาคารหลังนี้จะมีอีก 5 เครื่อง นึกภาพ 8 เครื่องเต็มๆ เราจะช่วยคนไข้ที่เป็นมะเร็งที่ต้องฉายแสงได้อย่างมากมาย

อาคารหลังนี้อุปกรณ์ต่างๆ เราจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพราะคนไทยช่วยกันบริจาคเราก็อยากเอาเงินที่บริจาคมาซื้ออุปกรณ์ที่ดีที่สุดเพื่อคืนชีวิตให้กับคนที่ด้อยโอกาสที่มารักษาที่ตึกนี้ อุปกรณ์ในตึกนี้ผมเชื่อว่าดีที่สุด ช่วงนี้เราก็เตรียมอาจารย์ของเราไปเรียนต่อ พยาบาลของเราที่มาใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คู่ขนานไปกับการสร้างอาคารและจัดหาอุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สิ่งที่เสริมเข้ามาอีกคือการยกระดับจิตใจคนที่มาตึกนี้ โดยที่ผมว่าจะมีแนวคิดต่างๆ พระราโชวาทต่างๆ อยู่ในตึกนี้เข้าไปอีก ตึกนี้ผมคิดว่าสมบูรณ์แบบจริง ๆ

ศิริราชเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพิ่มในอาคารนวมินทรบพิต 84 พรรษา

หลักการของเราเริ่มตอกเสาเข็มก็เริ่มสร้างคน เพราะระยะเวลาสร้างคนกับสร้างตึกใช้เวลาไม่ต่างกันเท่าไหร่ ไม่น้อยไปกว่ากัน อาการเหล่านี้ 3 ปีกว่าเต็มๆ การสร้างคนๆ หนึ่งที่จะมามีความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เหล่านี้ก็ใช้เวลาไม่น้อยไปกว่ากัน

หมอหนึ่งคนจบมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใช้เวลา 5 - 10 ปี เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันตอนนี้เราเร่งผลิตผู้ช่วยพยาบาลที่จะเข้ามาช่วยในตึกนี้ คนไข้ที่เข้ามาในตึกนี้เนื่องจากเป็นคนไข้ด้อยโอกาส คนไข้จำนวนหนึ่งก็จะเป็นผู้สูงวัยเพราะเรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราเตรียมพยาบาลที่จะดูแลผู้สูงวัย ผู้ช่วยพยาบาลที่จะดูแลผู้สูงวัย เป็นหลักสูตรต่อยอดให้เขาเริ่ม บุคคลากรเหล่านี้ตอนนี้เริ่มไปรักษาที่ตึกอื่นๆ อยู่บ้างแล้ว ก็เป็นการฝึกทักษะตัวเองไปพร้อมๆ กัน ถึงเวลาที่ตึกนี้เปิดคนเหล่านี้ก็จะกลับมาประจำอยู่ที่ตึกนี้

ตึกนี้มีศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไต โรคปอด อยู่ในศูนย์นี้ ตอนนี้อาจารย์ของเราที่ไปเรียนเฉพาะด้านหลายคนทยอยกลับมาแล้ว ก็จะพร้อมใช้อุปกรณ์ครุภัณฑ์อุปกรณ์ดีๆ หลายคนที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศใช้เครื่องมือดีๆ ก็จะแจ้งกลับมาว่าเครื่องเหล่านี้ดีจริงๆ แล้วจะเกิดประโยชน์ เราก็จะพยายามจัดหาเครื่องมา เมื่อกลับมาก็พร้อมใช้เครื่องที่ตัวเองถนัดที่ดีที่สุด ดูแลคนไทยที่มารักษาที่ตึกนี้ ผมเชื่อว่าตึกนี้จะเป็นตึกที่ยกคุณภาพชีวิตคนด้อยโอกาสได้อย่างมากๆ แล้วก็ตึกนี้ยังเป็นตึกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่อำนวยความสะดวก สามารถค้นหาข้อมูลทางการแพทย์ ตึกนี้ก็จะมีหุ่นยนต์ช่วยจ่ายยา เพื่อทำให้การจ่ายยาต่างๆ แม่นยำมากขึ้นลดความผิดพลาดน้อยลง ขณะเดียวกันเร็วขึ้น กระบวนการต่าง ๆ เร็วขึ้น

ดูอาจารย์เล่าเรื่องนี้แล้วอาจารย์มีความสุข

ทุกครั้งที่ทำอะไรให้กับคนไทย ผมเชื่อว่าพวกเราชาวศิริราชมีความสุข

มีความสุขเป็นพิเศษไหม สำหรับเรื่องนี้

เป็นความตั้งใจ ถ้าใครรู้เมื่อปีก่อนหน้านั้นมีบางตำแหน่งที่มีโอกาสจะไปถึงตำแหน่งเหล่านั้น ผมเคยบอกว่าไม่ต้องการไป อยากจะอยู่ที่นี่ เรื่องที่ตั้งใจเอาไว้ที่จะถวายงานพระองค์ท่าน เรื่องสุดท้ายที่เป็นรูปธรรมก็คืออาคารหลังนี้ อยากจะอยู่ทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้น อยากให้อาคารหลังนี้ช่วยดึงชีวิตคนที่ท่านตั้งพระทัยอยากให้ดึงกลับมา อยากให้พวกเราดึงกลับมาให้เสร็จซะก่อน ก่อนที่จะไปทำหน้าที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นมีความสุขทุกครั้งที่เห็นคนมาบริจาค มีความสุขทุกครั้งที่เห็นคนไทยดีๆ ที่อยากจะทำให้คนที่มาที่ตึกนี้แล้วก็จะมีความสุขมากกว่านี้ เมื่อตึกนี้เปิดเรียบร้อยแล้ว และมีใครสักคนหนึ่งถูกเข็นเข้ามาที่อาจจะเสียชีวิตแล้ว แต่สุดท้ายเดินกลับไปพร้อมกับญาติเขา อันนี้คือความสุขที่ดีที่สุด

อยากให้คนไทยมีพระองค์ท่านอยู่ในบ้าน อยากให้คนไทยมีพระองค์ท่านอยู่ในใจ

ตึกนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ให้เห็น แต่ถ้าเราทุกคนมีพระองค์ท่านอยู่ที่บ้าน พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านที่บ้าน ถ้ามีประสบการณ์เหมือนอย่างที่ผมมี เรื่องหลายเรื่องที่นึกไม่ออก เพียงแค่นั่งมองแก้ปัญหาได้ตั้งหลายเรื่อง นั่งมองและนั่งนึกถึงสิ่งที่พระองค์ทำ มีแบบอย่างหลายอย่างที่พระองค์เคยทำ ถ้าเรานึกแล้วเปรียบเทียบกับสถานการณ์ ผมเชื่อว่าท่านจะแก้ปัญหาได้นะครับ อยากชวนคนไทย อย่าลืมพระองค์ท่าน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง