"เสียง" ปัญหาร้องทุกข์อันดับ 1 ทั่วประเทศ

สังคม
22 ต.ค. 61
15:14
27,219
Logo Thai PBS
"เสียง" ปัญหาร้องทุกข์อันดับ 1 ทั่วประเทศ
สกว.เปิดงานวิจัยข้อร้องเรียนจากเหตุเดือดร้อนรำคาญพบ "เสียง" ติดอันดับ 1 ใน 3 ข้อร้องเรียนทั่วประเทศเฉลี่ยร้อยละ 40 แนะนำหากเป็นเสียงรบกวนฉุกเฉินเช่น กิจกรรมแข่งรถ งานเลี้ยงให้แจ้ง 191 ส่วนปัญหาเสียงรบกวนเรื้อรัง เช่น โรงงาน ร้านอาหาร แจ้งท้องถิ่น

วันนี้ (22 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปัญหาข้อร้องเรียนเสียงดังจากการตีระฆังของวัดแห่งหนึ่งย่านบางคอแหม นำมาสู่การร้องเรียนปัญหาเสียงดังจากกิจกรรมเต้นแอโรบิกที่สวนสันติภาพล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยรายงานวิจัยปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง  

ทั้งนี้จากงานวิจัยของ รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน หัวหน้าโครงการการศึกษาแนวทางการจัดการปัญ หาข้อร้องทุกข์ของประชาชน : กรณีเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียงและความขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา” ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว.และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิท ยาลัย ระบุว่า จากสถิติในปี 2558 พบว่าข้อมูลจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลมากที่สุด ได้แก่ ข้อร้องทุกข์ด้านสังคมและสวัสดิการ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อร้องทุกข์เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี

สาเหตุที่มีการร้องทุกข์มากที่สุด คือ เหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 32.98 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเหตุเดือดร้อนรำคาญทั้งหมด และเป็นข้อร้องทุกข์ที่พบมากที่สุดในทุกภูมิภาค

ข้อมูลระบุว่า กทม.มีการร้องเรียนด้านเสียง ร้อยละ 40.34 ภาคกลาง 34.67 ภาคเหนือ 41.56 ภาคตะวันออก 35.66 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 29.83 ภาคตะวันตก 27.40 และภาคใต้ 29.66  ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเสียงรบกวนจากการจราจร การแข่งรถ ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม อู่และร้านซ่อมรถ การก่อสร้าง เป็นต้น

 

 

แนะแจ้งเหตุ 191- ท้องถิ่นแก้ปัญหา

หัวหน้าโครงการวิจัย ระบุว่า ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง เกี่ยวข้องกับหน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวกข้องหลายส่วน เช่น ท้องถิ่น ตำรวจ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ทำให้มีความซ้ำซ้อน และนำไปสู่ความล่าช้า

นักวิจัยจึงมีข้อเสนอว่า เรื่องเสียงที่เป็นเสียงรบกวนแบบฉุกเฉินเกิดขึ้นฉับพลัน เช่น เสียงจากการมั่วสุมเมาสุรา ทะเลาะวิวาท แข่งจักรยานยนต์ หรือเสียงจากงานเทศกาลงานเลี้ยง ประชาชนที่ประสบปัญหาควรแจ้งไปยัง 191 หรือสถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาระงับเหตุได้ในทันที 

ส่วน ปัญหาเสียงรบกวนแบบเรื้อรัง เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น เสียงดังจากอู่ซ่อมรถ โรงงาน ร้านอาหาร สถานประกอบการ การก่อสร้าง สัตว์เลี้ยง ประชาชนควรแจ้งให้หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายที่รับผิดชอบ หากร้องเรียนแล้วไม่ได้รับการแก้ไขในกรอบเวลาที่กำหนด ควรแจ้งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ติดตามและประสานการดำเนินงานต่อไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง