"ไทย-มาเลเซีย" เร่งแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

การเมือง
24 ต.ค. 61
18:59
2,195
Logo Thai PBS
"ไทย-มาเลเซีย" เร่งแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
การเดินหน้าพูดคุยสันติสุขให้เห็นเป็นรูปธรรมในยุคของมหาร์เธร์ ในทางลับเริ่มขึ้นแล้ว ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ที่มหาเธร์แต่งตั้งได้ไปพบกลุ่มผู้เห็นต่างแล้วบางส่วน และก่อนที่มหาเธร์จะมาเยือนไทย ก็ได้มาพบกับฝ่ายความมั่นคงไทยแล้ว

การพบหารือของ 2 ผู้นำรัฐบาล ไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีวาระของการกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทหารแล้ว ยังมีอีกสัญญาณของการขับเคลื่อนแก้ปัญหาเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกระบวนการพูดคุยสันติสุข และข้อหารือต่อกันนั้น สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในมาเลเซีย โดยเฉพาะ "มหาเธร์ โมฮัมหมัด" นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต้องการเปลี่ยนแนวทางที่ "นาจิบ ราซัค" ที่เคยทำเอาไว้ รวมถึงแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากการหารือกับรัฐบาลไทย

เหตุเพราะ มหาเธร์ โมฮัมหมัด" มีเวลาในการบริหารประเทศเพียง 2 ปี ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับ "อันวาร์ อิบราฮิม" ขึ้นมาบริหารประเทศใน 2 ปีหลัง จึงได้กำหนดทิศทางให้ตรงประเด็น และตรงกับข้อเท็จจริงให้มากที่สุด พร้อมๆกับเลือกให้ "ตันศรี อับดุลราฮิมนูร์" เป็นผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจและอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เพราะนอกจากรู้เส้นทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการต่างๆแล้ว ยังมีความใกล้ชิดกับขบวนการบีอาร์เอ็น

ก่อนมาเยือนไทย ผู้อำนวยความสะดวกฯได้ลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มขบวนการทั้งหมดแล้ว และจะได้นำข้อมูลนั้นมาหารือกับทางการไทย และทำความรู้จัก-คุ้นเคยกับหัวหน้าคณะพูดคุยฯของไทย หรือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่หลักการของการพูดคุยฯ ยังคงมีลักษณะทางลับมากกว่าทางเปิด หากแต่เน้นที่จะพูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมปฏิบัติแห่งชาติ หรือ บีอาร์เอ็น มากกว่ากลุ่มเดิม คือ มาราปาตานี

ด้วย "บีอาร์เอ็น" เป็นกลุ่มเห็นต่างที่มีความชัด ในองค์กรนำ มีแผนขับเคลื่อนงาน ไม่ว่าจะด้านต่างประเทศ การเมือง หรือการศึกษา พร้อม ๆ กับการจัดตั้งกองกำลังทางทหาร ที่มีแนวร่วม ภายใต้การนำของนายดูนเลาะ แวมะนอ หัวหน้ากลุ่มองค์กรบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นเป้าหมายของมาเลเซียที่จะดึงเข้ามาร่วมพูดคุย

หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ ชี้ว่า มาเลเซียใช้ตำรวจสันติบาลด้วยเชื่อว่า จะเข้าถึงกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นมากว่ากองทัพ และไทย เลือก พล.อ.อุดมชัย นอกจากเหตุผลความชำนาญในพื้นที่แล้ว ยังคุ้นเคยกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่อยู่ด้วย ประกอบกับการทำงานเป็นทีมเวิร์ค น่าจะทำให้ทิศทางแก้ปัญหาเป็นเอกภาพขึ้น

สอดคล้องกับ ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่ชี้ว่า การปรับเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกฯของมาเลเซีย และหัวหน้าคณะพูดคุยฯของไทย จะทำให้การทำงานมีความกระชับ ตรงต่อเป้าหมาย และมีทิศทางการผลักดันที่เป็นเอกภาพ ด้วย 2 ผู้นำรัฐบาล ไทยและมาเลเซีย ได้หารือร่วมกันแล้ว

ภายใต้การเดินหน้าที่เชื่อว่าจะมีเอกภาพยังมีเงื่อนไขที่เห็นไม่ตรงกันอีก 2 ประเด็นหลัก คือการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ เซฟตี้โซน และการลงนามในข้อตกลง ดังนั้น 1 ปี หรือ 2 ปีนับจากนี้ไป อาจไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปลายด้ามขวานของไทยเท่านั้น แต่นี่คือบทท้าทายรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของ"มหาเธร์" ด้วยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งทางบริหารและการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง