12 ปี เพาะพันธุ์ปลา "ปล้องทองปรีดี" ปลาดอยสำเร็จ

สิ่งแวดล้อม
25 ต.ค. 61
14:30
2,087
Logo Thai PBS
12 ปี เพาะพันธุ์ปลา "ปล้องทองปรีดี" ปลาดอยสำเร็จ
ข่าวดี! กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปล้องทองปรีดี ปลาดอยที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ที่พบได้ที่ อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว และ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ได้สำเร็จ หลังใช้ความพยายามมากว่า 12 ปี

วันนี้ (25 ต.ค.2561) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้นักวิชาการกรมประมงได้ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ “ปลาปล้องทองปรีดี” ปลาหายากและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นถิ่นอาศัยเสื่อมโทรมลง และยังถูกรุกรานจับมาจำหน่ายเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ทำให้ปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมประมงต้องเร่งเพาะขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ให้ปลาชนิดนี้ยังคงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

 

 

นายประสาน พรโสภิณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ปลาปล้องทองปรีดี เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) มีขนาดเล็กความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว สีสันสวยงาม ลำตัวมีลักษณะคล้ายปล้องอ้อยเรียวยาวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือเหลืองอ่อน และมีลายขวางสีคล้ำลงมาเกือบถึงท้อง พบได้ในประเทศแถบเอเชียสำหรับประเทศไทยพบบริเวณลำธารภูเขาในเขตพื้นที่ อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว และ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

 

 

โดยศูนย์ฯ ได้สำรวจชนิดพันธุ์สัตว์น้ำตามโครงการพระราชดำริทุกปีอย่างต่อเนื่องและพบว่า ปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติหายากและมีจำนวนลดน้อยลง จึงได้พยายามรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเพื่อทำการศึกษาทดลองเพาะขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ระยะแรกพบว่าปลาไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการทดลองได้ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2560 ทางศูนย์ฯ ได้นำไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและอากาศใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากที่สุด

ชี้ 12 ปี ประสบความสำเร็จ

โดยคัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์มาทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอร์โมนสังเคราะห์ แล้วปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์แบบธรรมชาติที่อุณหภูมิน้ำ 15.3–16.8 องศาเซลเซียส ปรากฏว่า ปลามีการตกไข่มากถึงร้อยละ 70 และสามารถฟักออกเป็นตัวได้สำเร็จ แต่อัตราการฟักตัวยังค่อนข้างต่ำอยู่มากเพียงร้อยละ 37.13 เท่านั้น รวมถึงการอนุบาลลูกปลาก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการรอดยังต่ำอยู่ ได้ผลผลิตเพียง 200 ตัวเท่านั้น จึงต้องมีการพัฒนาขยายผลการศึกษาวิจัยในระยะต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จในเพาะพันธุ์ปลาปล้องทองปรีดีของไทย โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาทดลองกว่า 12 ปี ซึ่งกรมประมงคาดหวังว่าจะพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้
เพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรปลาในธรรมชาติให้มีจำนวนมากขึ้น ไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อปั้นเป็นปลาสวยงามทางเศรษฐกิจด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง