ย้อนรอยขยายถนนผ่านป่า

สิ่งแวดล้อม
6 พ.ย. 61
12:25
3,300
Logo Thai PBS
ย้อนรอยขยายถนนผ่านป่า
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมบางโครงการ "ถนนผ่านป่า" ที่เคยถูกคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการรักษาชีวิตสัตว์ป่า

กรณีโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนสาย "บ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง" ให้เป็นทางคอนกรีต ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกคัดค้านและขอให้ชะลอโครงการ เพราะเกรงว่าจะกระทบการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า แต่ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายโครงการตัดถนนผ่านป่าถูกคัดค้านเช่นกัน บางโครงการถูกระงับ ขณะที่บางโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ

ขยายถนน 304 ผ่านป่าเขาใหญ่-ทับลาน

โครงการขยายถนน 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ก่อนหน้านี้ใช้เวลาพิจารณาก่อสร้างนาน 10 ปี เนื่องจากกรมทางหลวงยึดมติ ครม.เรื่องการขยายถนน เมื่อปี 2538 และปี 2547 ซึ่งเป็นมติที่เกิดขึ้นก่อนการเสนอให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี 2548 จึงทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับความเป็นมรดกโลก หากมีการก่อสร้างและขยายเส้นทาง

แต่โครงการนี้เดินหน้าต่อในปี 2557 เมื่อ คสช.เห็นชอบโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) โดยกรมทางหลวงรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมป่าทั้ง 2 แห่งในจุดที่เป็นคอขวด ให้เป็นถนน 4 เลน ส่วนบนอุโมงค์เป็นทางเชื่อมทางเดินของสัตว์ป่า และภายหลังที่ คสช.อนุมัติโครงการนี้ ก็มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ที่มองว่าจะส่งผลกระทบกับผืนป่าและระบบนิเวศ แต่ก็ยังคงมีการดำเนินการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 2561 และจะถือเป็นต้นแบบในการเชื่อมผืนป่าแห่งแรกในประเทศไทย

กระทั่งเดือนเมษายน 2561 แขวงทางหลวงปราจีนบุรี ได้ทดลองเปิดใช้อุโมงค์เชื่อมผืนป่าแห่งนี้ให้กับผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นการชั่วคราว เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นทางคมนาคมหลักเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

ถนนผ่านป่าน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

จากมติ ครม.ในปี 2538 ที่ให้มีการขยายถนน 4 เลนทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมต่อด้านเศรษฐกิจ โครงการดังกล่าวครอบคลุมถึงป่าน้ำหนาวที่จะขยายเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ระยะทาง 43 กิโลเมตร เส้นทางระหว่างหล่มสัก-ชุมแพ ผ่านกลางอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากเครือข่ายองค์กรและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้เหตุผลว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขาดความน่าเชื่อถือและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และยังเป็นการทำลายป่าน้ำหนาวให้แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งสภาพเส้นทางมีความสูงชัน ไม่เหมาะกับการคมนาคมขนส่งสินค้า และสุดท้ายโครงการนี้ขัดมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2550 ที่ไม่ให้ขยายช่องจราจรในเส้นทางสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ให้ปรับปรุงผิวจราจรหรือชะลอความเร็วแทน พร้อมเสนอให้ยุติดำเนินการ

ในปี 2559 โครงการนี้ถูกระงับจากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มป่าน้ำหนาว-ภูเขียว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า โดยให้กรมทางหลวงไปหาเส้นทางใหม่อ้อมพื้นที่อนุรักษ์ กระทั่งในปี 2561 โครงการถนนผ่านป่าน้ำหนาวก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดสิ่งแวดล้อม

ถนนสาย 1117 คลองลาน-อุ้มผาง

ในปี 2528 มีการก่อสร้างเส้นทางสายคลองลาน-อุ้มผาง เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงในการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง การก่อสร้างเส้นทางสายนี้จึงยุติที่กิโลเมตรที่ 115 ตามมติ ครม.ในปี 2530 โดยเหลือระยะทางอีกเพียง 28 กิโลเมตรที่เส้นทางดังกล่าวจะทะลุถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก

เมื่อปี 2547 มีโครงการต่อขยายเส้นทางคลอง-อุ้มผาง หรือทางหลวงเลข 1117 โดยเส้นทางนี้จะตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ที่เป็นระบบนิเวศต่อเนื่องกันของผืนป่าตะวันตก แต่ถูกคัดค้านจากองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เห็นว่าจะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงหากมีการก่อสร้างถนนตัดผ่านผืนป่าตะวันตก จนกระทั่งสามารถยับยั้งโครงการก่อสร้างถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ในปี 2556 ชาวบ้าน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลก่อสร้างถนนสาย 1117 มุ่งสู่ อ.อุ้มผาง ตามแผนเดิม แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้าน เนื่องจากโครงสร้างถนนเดิมไม่สามารถใช้งานได้และเปลี่ยนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว

ถนน 3259 เขาอ่างฤาไน

ถนน 3259 มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี 2532 โดยกรมการทหารช่าง กองทัพบก กระทั่งโอนให้กรมทางหลวงดูแลในปี 2540 และประกาศเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3259

เส้นทางสายนี้ผ่านพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยมีช่วงที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าภาคตะวันออกทำให้มีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช้างป่า

แต่เนื่องด้วยถนนสายนี้เป็นทางลัดจากภาคกลางสู่ภาคตะวันออก จึงทำให้มีรถยนต์แล่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สัตว์ป่าล้มตายจากการถูกรถชนเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่าปี 2541-2542 มีรถแล่นผ่านถนนสายนี้ 299,298 คัน และในช่วงเวลาเดียวกันมีสัตว์ป่าถูกรถชนตาย 14,408 ตัว

เหตุสูญเสียสัตว์ป่าจากการถูกรถชนครั้งแล้วครั้งเล่า นำมาสู่การเสนอปิดถนนสายนี้เป็นการถาวร แต่ไม่ผ่านมติ ครม.จึงมีการบังคับใช้มาตรการปิดถนนเป็นช่วงเวลา เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

12 พ.ย.นี้นัดสรุปความชัดเจนเดินหน้า-หยุดถนนพะเนินทุ่ง

เช็ก! จุดเสี่ยงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง คอนกรีตจำเป็นไหม ?

ทำไมจึงเสนอ “แก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก

จี้ "ประวิตร" ยุติถนนพะเนินทุ่ง-ขู่ฟ้องศาลปกครอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง