ชัด ! "ป่าแก่งกระจาน" ถูกรบกวนจากคน-ส่งผลกระทบสัตว์ป่าหายาก

Logo Thai PBS
ชัด ! "ป่าแก่งกระจาน" ถูกรบกวนจากคน-ส่งผลกระทบสัตว์ป่าหายาก
งานวิจัย "ดุสิต งอประเสริฐ" จาก มจธ. ชี้ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าหายาก ทั้งเก้งหม้อ สมเสร็จ จระเข้น้ำจืด และเสือดาวที่พบพฤติกรรมหากินในเวลากลางวันตั้งแต่ 05.00-19.00 น. ชี้ป่าถูกแยกออกเป็นหย่อมเล็กๆ และกิจกรรมคนกระทบต่อสัตว์ป่า

วันนี้(8 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดุสิต งอประเสริฐ อาจารย์คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้ทำวิจัยสำรวจสถานภาพเบื้องต้นของเสือโคร่งและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีงานวิจัย ระบุว่า สถานภาพพื้นป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่ป่าที่ถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่าขนาดเล็ก

ประกอบกับมีการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์โดยรอบพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่ต้องการถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่

 

 

และเพื่อให้ทราบถึงสถานภาพปัจจุบันของเสือโคร่ง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ใช้วิธีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ด้วยรังสีอินฟราเรด และการสำรวจรอยตีน และร่องรอยสัตว์ป่า

โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาออกเป็น 4 พื้นที่คือ บริเวณห้วยแม่เสลียง โป่งพรม บริเวณแม่น้ำเพชรบุรีแบ่งออกเป็นสองพื้นที่โดยการใช้บริเวณเคยูแคมป์เป็นจุดแบ่งแม่น้ำเพชรบุรีออกเป็นตอนบน (กม.33-กม.36) และตอนล่าง (จากเคยูแคมป์ถึงโป่งลึก)

 

 

ทั้งนี้มีการนำกล้องดักถ่ายภาพสัตว์จำนวน 29 ตัว ติดตั้งตามด่านสัตว์ป่าและลำห้วย ที่คาดว่าเสือโคร่งน่าจะผ่านกล้อง 4 พื้นที่ และพบว่าจำนวนวันที่ติดตั้งกล้องเท่ากับ 809 คืนที่ติดกล้อง ในพื้นที่ศึกษามีเสือโคร่งอาศัยอยู่อย่างน้อย 4 ตัว จากการบันทึกภาพได้ 11 ภาพใน 2 บริเวณได้แก่ บริเวณลำห้วยแม่เสลียง และต้นแม่น้ำเพชรบุรีถึง เค ยู แคมป์ 

 

เสือโคร่งมีอาณาเขตหากินซ้อนทับกับเสือดาว และหมาใน บริเวณลำห้วยแม่เสลียง ภาพถ่ายทั้งหมดของเสือดาวจำนวน 34 ภาพ แสดงให้เห็นว่าเสือดาว  เสือโคร่งส่วนมากมีกิจกรรมในเวลากลางวันตั้งแต่ 05.00-19.00 น. และแสดงถึงการเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่

ยืนยัน "เก้งหม้อ" สัตว์สงวนในป่าแก่งกระจาน

สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่มีการแพร่กระจายของสัตว์ที่เป็นเหยื่อสูง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเสือโคร่ง เสือดาว และหมาใน สามารถมีถิ่นที่อยู่อาศัยร่วมกันได้ ช้าง และหมูป่า เป็นสัตว์ที่สามารถพบได้ทุกพื้นที่ แต่มีความชุกชุมสูงที่แม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง

เช่นเดียวกับกวาง เก้งพบทุกพื้นที่ยกเว้นบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง ส่วนเก้งหม้อ พบเพียงที่เดียวบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตอนต้นเท่านั้น วัวแดงพบเพียงที่เดียวบริเวณโป่งพรมจำนวนหนึ่งภาพ

 

 

กระทิงมีการแพร่กระจายสองพื้นที่คือ โป่งพรมกับห้วยแม่เสลียง และความชุกชุมมากที่โป่งพรมเช่นกัน ในแผนการจัดการอนุรักษ์ควรมีการประกาศพื้นที่บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด  เนื่องจากบริเวณนี้มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ สมเสร็จ และจระเข้น้ำจืด ควรมีการจำกัดกิจกรรมของคนที่จะเข้าไปในพื้นที่ และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ทั้งนี้อาจต้องเพิ่มมาตรการป้องกันปราบปรามผู้ลักลอบล่าสัตว์ให้มากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิดภาพสัตว์ป่าสงวนหากินบนถนน“พะเนินทุ่ง”

จี้ "ประวิตร" ยุติถนนพะเนินทุ่ง-ขู่ฟ้องศาลปกครอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง