สรรพสามิตผลักดันเก็บภาษีความเค็ม-มัน ช่วยรักษาสุขภาพ

สังคม
8 พ.ย. 61
10:35
3,575
Logo Thai PBS
สรรพสามิตผลักดันเก็บภาษีความเค็ม-มัน ช่วยรักษาสุขภาพ
กรมสรรพสามิต มีแนวคิดเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก โดยยึดแนวทางเดียวกับการจัดเก็บภาษีจากความหวาน ขั้นต้นจะให้ผู้ประกอบการปรับตัว 5 ปี

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิต มีแผนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบการเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งถือเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายสุขภาพ เบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากความหวาน สำหรับแนวทางดำเนินการขั้นต้นจะให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว เช่น ให้เวลา 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีลงให้ แต่หากไม่สามารถลดได้ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดไว้ และหากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดแล้วผู้ประกอบการยังไม่สามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นต้น

อธิบดีกรมสรรพสามิต เชื่อว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีความเค็ม หรือสินค้าที่มีเกลือหรือโซเดียมในปริมาณมากนี้ เป็นหนึ่งในแพกเกจการจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่ ที่จัดอยู่ในพิกัดภาษีสินค้าสรรพสามิต และปรับปรุงสินค้าเดิมที่มีอยู่ โดยเน้นทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งจะเสนอที่ประชุมครม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวคิดเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็มและความมันว่า กรณีภาษีความมันจากไขมันทรานส์นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย อ.ย. ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ผลิตอาหารอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอสินค้าที่มีความเค็ม ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการดูแลอาหารที่ทำสำเร็จแล้วมากว่าต้องไม่ให้ใส่เกลือ หรือเครื่องปรุงรสเค็มต้องไม่เกินปริมาณเท่าไหร่ เช่นเดียวกับภาษีความหวาน ที่จำกัดปริมาณน้ำตาลในสินค้าน้ำหวาน น้ำอัดลมต่างๆ

ด้านผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวและอาหารกึ่งสำเร็จรูป อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล โดยมีรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าเถ้าแก่น้อย เชื่อว่า หากมีการกำหนดอัตราโซเดียม หรือความเค็ม และอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ ก็ต้องปรับสูตรสินค้า แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้บริโภค และภาครัฐต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับสูตร เช่นเดียวกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวและมาม่า ที่อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล แต่บางสินค้าก็เริ่มพิจารณาเพื่อปรับสูตรแล้ว

ข้อมูลจากประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ระบุว่า ปัจจุบัน คนไทยกินเค็มหรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยเมื่อ 8 ปีก่อน คนไทยบริโภคเกลือมากถึง 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน จากความต้องการ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบัน มีแนวโน้มบริโภคโซเดียมลดลง อยู่ที่ประมาณ 3,500 มิลลิกรัมต่อวัน

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ยกโมเดล "ฮังการี" รีดภาษีร้อยละ 15 ประชาชนปรับตัวลดเค็ม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง