ป.ป.ช.ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน 60 วัน ให้ กก.สภามหาวิทยาลัย

การเมือง
12 พ.ย. 61
13:25
1,238
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน 60 วัน ให้ กก.สภามหาวิทยาลัย
ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภา ยังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเตรียมแก้ไขประกาศการยืนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยขยายวันบังคับใช้จากวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ไปอีก 60 วัน พร้อมระบุว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

วันนี้ (12 พ.ย.61) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กำหนดรายละเอียดไว้แล้ว ส่วนพระเถระชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ ยังต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินให้ กก.สภามหาวิทยาลัย

พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กฎหมายกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองและการบริหาร และเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคนจะลาออก เพราะไม่ประสงค์จะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน โดย ป.ป.ช.จะขยายเวลาในการบังคับใช้ประกาศจากวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ไปอีก 60 วัน หากติดขัดปัญหาก็ขอขยายเวลาได้อีก 30 วัน เพื่อบรรเทาปัญหากรณีกระทบการบริหารจัดการที่จะมีกระบวนการสรรหาบุคคลใหม่มาทดแทนบุคคลที่ลาออก เพื่อให้ระบบเตรียมพร้อมได้ และย้ำว่าจะทำทุกอย่างให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.)

ยื่น 1,369 รายชื่อ หนุนเปิดทรัพย์สินฝ่ายบริหาร

ขณะที่กลุ่มสนับสนุนประกาศ ป.ป.ช. นำโดย นพ.สุธีร์ รัตนมงคล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พร้อมเครือข่าย นำ 1,369 รายชื่อ ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สนับสนุนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่ง ตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่าเคยมีข้อร้องเรียนจากบางสถาบันว่า พบการทุจริตของผู้บริหารจากการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงน่าเป็นห่วงเพราะการบริหารงบประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทของมหาวิทยาลัย ไม่มีระบบตรวจสอบ อาจมีการปิดบังข้อมูลและเกิดการทุจริตทางนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างได้ง่าย

ขณะเดียวกันยังพบว่า มีการนำงบประมาณของมหาลัยไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงิน ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการสภาฯ รวมถึงเปิดสัมปทานให้ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนรับงานก่อสร้างในมหาวิทยาลัย และมอบโควตานักเรียนโรงเรียนสาธิตให้ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยไม่มีผู้เข้าไปตรวจสอบ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยว่าการป้องกันและปราปปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 102 กำหนดให้ข้าราชการต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งของตัวเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังมีตำแหน่งอื่นๆ ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น ตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นทรัพย์สิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง