“แม่ทา” สิทธิใช้ที่ดินแปลงรวม ติดเงื่อนไข “จังหวัด”

สิ่งแวดล้อม
14 พ.ย. 61
10:15
1,688
Logo Thai PBS
“แม่ทา” สิทธิใช้ที่ดินแปลงรวม ติดเงื่อนไข “จังหวัด”
การมอบสิทธิที่ดินแปลงรวมของรัฐบาลมีปัญหาขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อจังหวัดต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ โดยที่ชุมชนไม่มีสิทธิจัดการพื้นที่แท้จริง

พื้นที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มอบสิทธิที่ดินทำกินให้กับชุมชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่มอบ “ที่ดินแปลงรวม” 7,282 ไร่ ให้กับ ต.แม่ทา เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการที่ดิน โดยมีชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ 1,235 ครอบครัว

การมอบที่ดินแปลงใหญ่อาศัยกลไกตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวน คือการเปิดช่องให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าให้ “หน่วยงานรัฐ” ใช้ประโยชน์สาธารณะและเป็นเหตุที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อธิบายกับชุมชนที่ต้องมอบที่ดินให้กับ “จังหวัด” เป็นผู้ดูแลและยังไม่รวมถึงกรณีที่องค์กรท้องถิ่นหรือนิติบุคคลรับมอบพื้นที่หลักพันไร่ จึงไม่สามารถมอบสิทธิให้ อบต. หรือสหกรณ์ที่ดินการเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ

อ่านเพิ่ม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับ 4) พ.ศ.2559

 

คำถามกลับมาที่ “ชุมชนแม่ทา” พร้อมแค่ไหนหากเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อไล่เรียงตามประวัติพบความพยายามต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดทำแผนที่ทำมือและแบ่งที่ดินเป็น 4 ประเภท เพื่อวางขอบเขตที่ดินทำกินและที่ป่า แต่ปัจจัยภายนอกกลับมีผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนในอดีตต้องกลายเป็น “คนตัดไม้”

ปัจจัยสำคัญคือ การสัมปทานที่ป่าใน ต.แม่ทา ตั้งแต่ก่อนปี 2500 จำนวน 2 โครงการใหญ่ คือปี 2430-2507 มีการสัปทานไม้หมอน ฟืน รถไฟ และช่วงเดียวกัน (ปี 2544-2451) มีการสัมปทานไม้สัก จึงส่งผลให้คนในพื้นที่ยึดอาชีพ “คนตัดไม้” เป็นหลัก แต่หลังจากทรัพยากรเสื่อมโทรมและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงกลุ่มนักพัฒนาหรือเอ็นจีโอเข้าร่วมแก้ไขปัญหา “คนตัดไม้” จึงพลิกบทบาทจาก “ผู้ทำลาย” เป็น “ผู้พิทักษ์”

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

เส้นทางชาวบ้านพิทักษ์ป่า

ปี 2536 จัดตั้งคณะกรรมการป่าไม้ชุมชน เริ่มการโซนนิ่งกว่า 3.7 หมื่นไร่ พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ป่าและกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน อีกทั้งยังร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนปี 2540 แต่ไม่สำเร็จ
ปี 2549 การใช้เทคโนโลยีและ GPS กำหนดเขตพื้นที่ แบ่งที่ดิน 4 ประเภท
ปี 2550 ออกบัญญัติตำบล รับรองสถานะคณะกรรมการป่าชุมชนตามกฎหมาย
ปี 2553 เสนอเป็นพื้นที่ออกโฉนดชุมชน
ปี 2558 รัฐบาล คสช.กำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 5 โครงการที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินแปลงรวม

คทช. อำนาจติดที่ “จังหวัด”

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กล่าวว่า ช่วงแรกที่มีการมอบที่ดิน แม้อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด แต่ชุมชมก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็ลดขั้นตอนการพิจารณาจากระดับประเทศมาอยู่ที่ระดับจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อปีแรกมีการตัดถนน 2 เส้นทางและต่อไฟฟ้าเข้าพื้นที่

กระทั่งปี 2560 (ปีงบประมาณ 2561) มีชุมชนตั้งโครงการตัดถนนเส้นที่ 3 แต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะจังหวัด (คณะกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามา) มีคำถามเกี่ยวกับขอบเขตการพัฒนาพื้นที่ว่าโครงการต่างๆ ข้างต้นตรงกับเจตนาของกรมป่าไม้ที่มอบพื้นที่ให้หรือไม่ จึงส่งคำถามไปยังกรมป่าไม้ในเดือน เม.ย.2560 กระทั่งได้คำตอบกลับมาในเดือน ก.ย.ปีนี้ ระยะเวลาที่สูญเสียไปจึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาลักษณะนี้ต่อเนื่อง

ความไม่ชัดเจน ทำให้เสียโอกาส 2 ปี หลุดไป 5 โครงการ และปี 2563 จังหวัดก็ยังไม่ตั้งเรื่องให้
กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา

กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา

กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา

ไม่หลุดวงจรเกษตรพันธสัญญา

สิทธิทำกินที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพโดยตรง เพราะประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินและ อบต.รับรองสิทธิไม่ได้ ผลกระทบคือ 1.กรณีการขยายตัวของเกษตรกรรม เช่น ฟาร์มวัว, ฟาร์มหมู, สวนลำไย ฯลฯ ชาวบ้านไม่สามารถขอใบอนุญาตเพื่อก่อสร้างอาคารจาก อบต.ได้ เพราะตามกฎหมาย อบต.รับรองได้เฉพาะที่ดินบางประเภท เช่น นส.3 หรือที่ สค.1 หรือที่มีเอกสารสิทธิชัดเจนเท่านั้น

2.ฟาร์มที่ต้องการหลุดพ้นจากเกษตรพันธสัญญาและตั้งฟาร์มของตัวเอง ต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลทำไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจากข้อ 1 และ 3. กรณีตั้งฟาร์มเอง การเคลื่อนย้ายสัตว์ที่อยู่ในฟาร์มทำไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต ซึ่งการขอใบอนุญาตจะต้องใช้ใบอนุญาตสร้างอาคารด้วย สุดท้ายปัญหาวนกลับเป็นวงกลม เมื่อไม่มีการรับรองสิทธิในที่ดิน

ดังนั้นข้อเสนอของ ต.แม่ทา คือขอให้ชุมชนมีสิทธิใช้พื้นที่ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาครัฐสามารถตรวจสอบการใช้พื้นที่และประเมินศักยภาพของประชาชน

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ถ้าชุมชนมีศักยภาพก็ให้ทำ คุณจะคุมหรือตรวจว่ามีการบุกรุกก็ได้ อย่างไรชุมชนก็ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นพื้นที่เขา, นายก อบต.แม่ทา กล่า

ข้อสรุปที่ได้จากกรณี ต.แม่ทา คือปัญหาในการใช้ที่ดิน แม้ภาครัฐจะใช้คำว่า “มอบ” ที่ดินให้กับชุมชน แต่ในทางปฏิบัติ การอนุมัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีช่องว่างการตีความถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิที่จะ “พัฒนา” พื้นที่ได้ตามความตั้งใจ

ทางออกของปัญหานี้ คือการกำหนดขอบข่ายของ “ประโยชน์” ที่จะใช้พื้นที่ชัดเจน เพื่อลดความคลุมเครือในการตีความระดับจังหวัดและปล่อยให้ชุมชนมีสิทธิที่จะดำเนินการในที่ดินอย่างเหมาะสม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารที่ดิน "บ้านโป่ง" ยังไปไม่ถึงฝัน

ไม่รับที่ดินแปลงรวม หวั่นทำลายวิถี “กะเหรี่ยง”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง