ธนาคารที่ดิน "บ้านโป่ง" ยังไปไม่ถึงฝัน

สิ่งแวดล้อม
14 พ.ย. 61
10:16
677
Logo Thai PBS
ธนาคารที่ดิน "บ้านโป่ง" ยังไปไม่ถึงฝัน
โมเดลแก้ปัญหาที่ดิน "บ้านโป่ง" เสี่ยงล้ม เหตุซื้อที่ดินราคาสูง จนชาวบ้านไม่อาจผ่อนหมดใน 30 ปี

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องกลับมาทบทวนการแก้ไขปัญหาที่ดิน แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานอย่างสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายที่ดินระหว่าง “เจ้าของที่ดิน” และ “ชาวบ้าน” ที่เข้าใช้พื้นที่ แต่ปัญหาก็ยังไม่สามารถคลี่คลายทั้งหมด

“บ้านโป่ง” เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เคยมีข้อพิพาทที่ดิน จุดเริ่มต้นที่ทำให้ที่ดินทำกินหลุดมือเกิดขึ้นหลังปี 2532 ที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูจนมีเอกชนกว้านซื้อที่ดินที่เรียกว่า “ป่าแพะ” เพื่อทำโครงการบ้านจัดสรร แต่กลับต้องเผชิญกับสภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เอกชนเลือกจำนองที่ดินกับสถาบันการเงิน กระทั่งที่ดินหลุดจำนอง แม้ขายทอดตลาดก็ไม่มีผู้ซื้อ จนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง

 

ช่วงปี 2540 เกิดกระแสปฏิรูปที่ดินที่ จ.ลำพูน ชาวบ้านส่วนหนึ่งรวมตัวเป็นกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง เข้าแผ้วถางพื้นที่ “ป่าแพะ” แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มทำกินในพื้นที่ จึงถูกฟ้องร้องโดยเอกชนเจ้าของที่ดิน จำนวน 13 คดี และมีการต่อสู้กันในชั้นศาล ซึ่งสถานะของชาวบ้านในสายตาของเอกชนและคนนอก-คนในพื้นที่คือ “ผู้บุกรุก”

พื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ 79 ครอบครัว กว่า 200 คน แบ่งการใช้ที่ดินเป็น 3 ส่วนคือ 1.ที่อาศัยครอบครัวละ 2 งาน 2.ที่ดินทำกินครอบครัวละ 2-3 ไร่ แล้วแต่ความสมบูรณ์ของพื้นที่ และ 3.พื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ของชุมชน ซึ่งพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ใช้ปลูกชะอม มะละกอ กล้วย ลำไย มะม่วง รวมถึงพืชล้มลุก เช่น มะเขือ พริกและแตง เป็นต้น

นายดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง กล่าวว่า ที่ดินหลุดมือไปแล้ว แต่อาศัยมาตรา 6 ของกฎหมายที่ดินเข้าไปทำกิน กลับถูกแจ้งความข้อหาบุกรุก เราจึงต่อสู้ในชั้นศาล ขณะเดียวกันเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน เพราะที่ดินถูกใช้ไม่เป็นประโชน์และมีคุณค่าลดลง ทั้งที่มีการพัฒนาถนน น้ำ ไฟและระบบชลประทาน แต่กลับไม่รักษา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รักษา ปล่อยให้เป็นตามผังเมือง ที่ดินการเกษตรไม่ควรถูกทำเป็นรีสอร์ท สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร
ดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง

ดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง

ดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง

ขณะที่นาข้าวถูกซื้อขายจนกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ของคนในชุมชน แต่ตกอยู่กับนายทุนที่ใช้อำนาจกว้านซื้อ การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจด้านเดียวไม่มองถึงความมั่นคงของชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวไม่ควรใช้ทำอย่างอื่นนอกจากพื้นที่การเกษตร

กลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง จึงสนับสนุนให้มีกฎหมายแก้ไขปัญหาที่ดิน 4 ฉบับ ได้แก่ ธนาคารที่ดิน, การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, โฉนดที่ดินชุมชน และกองทุนในการต่อสู้คดีของชาวบ้าน

ไม่ว่าทุกรัฐบาลจะมาจากวิธีไหน แต่เมื่อปัญหายังไม่แก้ไข เราก็จะผลักดันแก้ความเหลื่อมล้ำ

ยืนยันไม่ใช่คนบุกรุก “ป่าแพะ”

นายดิเรก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลุงเดช” พาทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจพื้นที่สำคัญ 3 จุด เพื่อยืนยันถึงเหตุผลที่ชาวบ้านต้องใช้พื้นที่ “ป่าแพะ” และยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้บุกรุก

จุดแรกคือ “ดินโป่ง” ริมแม่น้ำปิง ที่ดินของบรรพบุรุษเชื้อสายลั้วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สาเหตุที่ได้ที่ดินโป่ง ซึ่งไม่มีความมั่นคง เพราะเป็นคนกลุ่มหลังที่ย้ายเข้ามาใน ต.แม่แฝก และได้รับการแบ่งที่ดินจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่เดิม จึงเป็นเหตุผลแรกที่ต้องไปพัฒนาพื้นที่ “ป่าแพะ”

 

จุดที่ 2 คือที่นาก่อนถึง “ป่าแพะ” ที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมและเป็นที่ตั้งโรงงาน สะท้อนปัญหาที่ดินของปัจเจกที่ถูกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของคนนอกพื้นที่ ขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบคือคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

และจุดที่ 3 คือที่รกร้างที่เรียกว่า “ป่าแพะ” อดีตถูกเอกชนกว้านซื้อและตกอยู่ในมือเอกชนเพียง 3 บริษัท ในพื้นที่กว่า 300 ไร่

ธนาคารที่ดินยังไม่จบปัญหา

กลับมาที่การพัฒนาที่ดินตั้งแต่ปี 2545 และชาวบ้านถูกดำเนินคดี ช่วงเดียวกันกลุ่มปฏิรูปที่ดินฯ เดินหน้าเสนอเรื่องต่อรัฐบาลในช่วงปี 2551 เพื่อขอให้รัฐบาลซื้อที่ดิน ซึ่งรัฐบาลรับหลักการและดำเนินหน้าโครงการต่อเนื่อง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยตลอดช่วงปี 2553-2557 การจัดซื้อที่ดินผ่าน บจธ.จึงเพิ่งเริ่มขึ้นและแล้วเสร็จในปี 2561

ที่ดินที่ บจธ.ซื้อมาทั้งหมด 289 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย 308 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือไม่สามารถซื้อได้ เพราะ 2 ปัจจัยทั้งเจ้าของที่ดินไม่ขายและที่บางแปลงราคาสูงเกินไป

นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ กล่าวว่า โครงการเตรียมซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2554 แต่ซื้อจริงในปี 2560 ทำให้ที่ดินบางส่วนซื้อไม่ได้เพราะราคาสูง ส่วนที่ดินกว่า 70% ที่ซื้อมาก็มีราคาสูงถึง 57 ล้านบาท จนเป็นภาระต่อชาวบ้าน เพราะ บจธ.มีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่อนใน 30 ปี หรือ 30 งวด เท่ากับว่าต้องผ่อนปีละ 3.4 ล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านมีรายได้รวมอยู่ที่ปีละ 2.6 ล้านบาท

ชาวบ้านต้องผ่อนเกินรายได้ ซึ่งโครงการอาจจะล้ม เพราะประชาชนไม่มีกำลังผ่อนชำระใน 30 ปี
ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

พร้อมเสนอรัฐบาลรอนสิทธิในที่ดิน โดยให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของสหกรณ์หรือชุมชน ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล เพื่อแลกกับการที่ภาครัฐจะเข้าไปชดเชยต้นทุนในการซื้อที่ดิน เช่น ช่วยสมทบทุนในการซื้อที่ดิน 50% เพื่อชดเชยกับการรอนสิทธิในที่ดินที่ชาวบ้านผ่อนหมดแล้วจะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน รวมถึงเสนอให้ปลดล็อคเงื่อนไข 30 ปี เพื่อลดภาระในการผ่อนชำระกับ บจธ.

รัฐบาลไม่ควรมองว่าเกษตรกรต้องแบกรับเต็ม 100% เพราะสุดท้ายที่ดินรักษาไว้กับชุมชน

ซึ่งวิธีคิดของ บจธ.คือการพึ่งตนเอง ชาวบ้านผู้ซื้อที่ดินรับต้นทุน 100% สิ่งที่ บจธ.ได้รับคือดอกเบี้ย-กำไร วิธีคิดนี้อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ดินทั้งหมด เพราะต้นทุนที่สูงเกินจนชาวบ้านไม่สามารถผ่อนชำระในเงื่อนไขที่กำหนดได้ และสุดท้ายโครงการอาจเดินต่อไปไม่ได้

บทสรุปที่จะเป็นทางออกจากปัญหา ภาครัฐคงต้องหันกลับมาทบทวนร่วมกับประชาชน ถึงการพิจารณาเงื่อนไขและความเป็นไปได้ที่จะทำให้การผ่อนชำระเป็นไปได้จริง และกรรมสิทธิ์ของที่ดินตกเป็นของชุมชน เพื่อที่จะรักษาที่ดินได้อย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“แม่ทา” สิทธิใช้ที่ดินแปลงรวม ติดเงื่อนไข “จังหวัด”

ไม่รับที่ดินแปลงรวม หวั่นทำลายวิถี “กะเหรี่ยง”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง