เสนอ 10 พรรคการเมือง ชูนโยบายแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ"ที่ดิน"

สิ่งแวดล้อม
17 พ.ย. 61
18:26
1,057
Logo Thai PBS
เสนอ 10 พรรคการเมือง ชูนโยบายแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ"ที่ดิน"
เครือข่ายประชาชนร่วมถกปัญหาที่ดิน เสนอ 10 พรรคการเมืองยอดนิยม ชูนโยบายาหาทางออกปัญหาที่ดินที่เรื้อรังมานานถึง 44 ปี ให้เห็นผลในรัฐบาลหน้า ชี้ที่ดินเป็นสินค้า กระจุกตัวในมือกลุ่มทุน เกิดความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (17 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 8 เครือข่าย จัดงานเสวนา "มหกรรมที่ดิน คือ ชีวิต"ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินที่มีมานาน ในโอกาสครบรอบ 44 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ แห่งประเทศไทย

นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ระบุว่า  44 ปี ในการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของประชาชนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินยังอยู่ในมือของรัฐส่วนกลาง ชุมชนไม่มีสิทธิ์หรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินอย่างแท้จริง และไม่สามารถที่จะกำหนดชีวิตของตนเองได้ จึงเกิดความไม่เท่าเทียมในการถือครองที่ดินและเกิดการกระจุกตัวโดยเฉพาะที่ดินเอกชนที่ยังไม่มีมาตรการทางกฏหมายให้เกิดการกระจายการถือครองทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกินได้อยู่อาศัยได้

 


ขณะเดียวกันมีข้อมูลระบุว่า ประชาชนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ มีผู้ที่สามารถเข้าถึงการครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่รัฐออกให้เพียง 15 ล้านคนเท่านั้น ส่วนอีกเกือบ 50 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงการถือครองที่ดินได้ ซึ่งนับเป็นแรงกดดันต่อประชาชน อีกประมาณ 15 ล้านคน  ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐอย่างผิดกฎหมาย

หวั่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ระบุว่า ที่ผ่านมาถ้าประชาชนได้มีการผลักดันให้มีแต่การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าซึ่งจะเก็บจากขนาดการถือครองที่ดินจากบุคคล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ขัดแย้งสวนทางกับแนวคิดของรัฐบาล โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ สนช.ที่ต้องการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินโดยเฉพาะที่ดินเอกชน แต่ประชาชนกลับมองว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมีการเก็บภาษีตามขนาดการถือครองที่ดินของบุคคลซึ่งกระจายตัวอยู่ตาม อบต.ต่าง ๆ 

สมมติผมไปซื้อที่ดินไว้ 49 ล้านบาทก็สามารถมีที่ดินได้มหาศาลนับ 100,000 ไร่ โดยไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียวเพราะมีข้อยกเว้นว่า ที่ดินแปลงไหนที่อยู่ในท้องถิ่นมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมให้คนกักตุนที่ดินแทน


ขณะที่การเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 นับเป็นความหวังของเครือข่ายภาคประชาชนที่จะเห็นความจริงใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของพรรคการเมือง เนื่องจากวันนี้ที่ดินกว่า 333 ล้านฉบับ ที่กรมที่ดินออกโฉนดให้รวมกัน 128 ล้านไร่ ประมาณร้อยละ 40 ของคนทั่วประเทศ ถูกถือครองเพียง 5 ล้านคน และยังพบว่าการถือครองไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

เรากำลังสรุปปัญหาใน รอบ 20 ปี เพื่อที่จะนำเป็นข้อเสนอให้กับ 10 พรรคการเมือง ที่ได้ตอบรับเข้าร่วมมารับฟังปัญหาและแสดงวิสัยทัศน์ นโยบายของพรรคในวันพรุ่งนี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลหน้าจะเร่งแก้ปัญหาความมั่นคงของชีวิตประชาชนให้ได้ ที่ดินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เมื่อ "โฉนดชุมชน" ไร้ความหมาย 

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เล่ากับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เดิมที่ดินในชุมชนเป็นที่ดินหมดสัมปทานปาล์มน้ำมัน จึงเข้าไปตรวจสอบเมื่อปี 2546 ก็พบว่าที่ดินดังกล่าวหมดสัมปทานแต่นายทุนไม่ยอมออกจากพื้นที่ ชาวบ้านจึงผลักดันให้หน่วยงานรัฐนำที่ดินมาปฏิรูปให้เกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดิน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ต่อมาในปี 2551 ชาวบ้านในชุมชน 140 ครอบครัว ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิในการก่อตั้งชุมชนใหม่ และร่วมผลักดันเชิงนโยบายกับรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน จนกลายเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนนำร่อง จึงทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยได้

ตอนนี้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อจัดรูปแบบที่ดินใหม่ในพื้นที่ชาวบ้านทำรูปแบบโฉนดชุมชน มีการปรับพื้นที่ใหม่ ตอนนี้เหลือคนอยู่ในชุมชนแค่ 70 ครอบครัว


สำหรับพื้นที่ที่มีการปรับปรุง คือ พื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกสร้างอยู่แล้ว มีผลผลิตกำลังจะออก เช่น ปาล์มน้ำมัน กล้วย และยางพาราที่กำลังจะกรีด ก็มีการปรับพื้นที่โดยการวาดผังใหม่ สร้างถนนใหม่ และนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่เพื่อขุดสระขนาดใหญ่ 300 ไร่ รวมทั้งมีการปรับให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก่อนออกจากพื้นที่และนำชาวบ้านกลุ่มใหม่เข้าอยู่ในพื้นที่ 

เราต่อสู้กับนายทุนมานาน เพื่อให้ได้ที่ดินทำกิน แต่พอผลิตกำลังจะออก กลับถูกรถแบคโฮมาไถ ขณะนี้ก็พยายามผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดินให้กับทุกรัฐบาลในอนาคต ขอให้ช่วยฟังชาวบ้าน สร้างนโยบายจากรากฐาน เพื่อแก้ปัญหาะยะยาว 

 

"สังคมเจรจา"  แก้ปัญหาพิสูจน์สิทธิที่ดิน

ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส  ปิ่นตกแต่ง อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กรณีที่ดินในเขตป่า มีปัญหาซับซ้อนในการจัดการ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย อย่างกฎหมายป่าอนุรักษ์ หรือเขตลุ่มน้ำชั้น 1 ก็ต้องมีการอพยพคนลงมา เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการเน้นแนวคิดในเรื่องของคนอยู่กับป่าก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่อาจจะตอบโจทย์รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในเรื่องป่าไม้ มากกว่าการไล่ชาวบ้านออกจากป่า 

บทเรียนของสมัชชาคนจนหรือพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ที่เคลื่อนไหว ทางออกที่สำคัญ คือ การสร้างสังคมเจรจา แบบเสมอหน้า เพื่อให้กรรมการพิสูจน์สิทธิฟังชาวบ้าน เพราะแค่แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศอย่างเดียวก็ไม่พอ 


ทั้งนี้ รศ.ดร.ประภาส ระบุว่า การหาทางออกอาจจะต้องกล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชุมชนเมืองรุกที่ดินทำการเกษตร รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่ได้ออกมาแล้วจะสามารถนำมาใช้จริงได้อย่างไร เช่น อัตราภาษีก้าวหน้าทำอย่างไรจะผลักดันให้เป็นภาษีอัตราก้าวหน้าได้ เรื่องของโฉนดชุมชนที่ทำอย่างไร อำนาจในการใช้ที่ดินเป็นของชุมชน ไม่ใช่การนำอำนาจมาให้หน่วยงานราชการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนตัดสินใจ แล้วชาวบ้านเป็นเพียงแค่ผู้เช่าที่ดินเท่านั้น

ยก "ที่อยู่อาศัย-ที่ดิน" เป็นสิทธิพื้นฐานของ ปชช.

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การจะทำให้ที่ดิน ไม่เป็นสินค้า นโยบายสวัสดิการและที่อยู่อาศัยต้องมีความชัดเจน และให้ความสำคัญกับที่ดินมากขึ้่น

การศึกษาและการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่อยู่อาศัยก็ควรยกระดับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.บุญเลิศ ยกตัวอย่างประเทศฮอนแลนด์ ซึ่งมีคำขวัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองโดยมีแนวคิดว่า "justice city" เมืองแห่งความเป็นธรรมโดยส่วนหนึ่งที่ใช้ในการวัดความเป้นธรรมของฮอลแลนด์ คือ เมืองที่ทุกคนมีที่อยู่อาศัย ซึ่งการที่จะทำให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยได้


รัฐบาลต้องตัดวงจรไม่ให้มีผู้ซื้อบ้านมากกว่า 1 หลัง เพื่อการเก็งกำไร ในส่วนนี้ก็จะทำให้ที่ดินมีราคาถูกลง และทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ไม่ใช่แบบทุนนิยมอย่างเดียว แต่ต้องเป็นเจ้าของโดยแท้จริง หรือมีสัญญาเช่าที่มีหลักประกันที่ดี เมื่อไม่ต้องการเช่าต่อ ก็ไม่จำเป็นต้องขายและให้ผู้เช่ารายใหม่เข้ามาใช้พื้นที่ต่อในราคาถูก วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้ประชาชนลดความรู้สึกการเป็นเจ้าของและการเก็งกำไรได้


ผศ.ดร.บุญเลิศ ระบุว่า รากเหง้าของปัญหาที่ดินที่สำคัญ คือ หลายคนต้องการกักตุนที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไรในอนาคต จนทำให้ราคาที่ดินสูงอย่างไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น การจัดการ คือ ไม่ควรส่งเสริมให้ที่ดินเป็นเรื่องของธุรกิจ โดยใช้มาตรการเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้า แต่บางคนจะมองว่าวันนี้จะเสียประโยชน์มาก เพราะฉะนั้นมาตรการนี้อาจจะมีการใช้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า คนที่ยังไม่มีที่ดินก็ไม่ควรซื้อไว้เก็งกำไร ส่วนคนที่มีที่ดินจำนวนมากก็มีเวลาในการผ่อนถ่ายที่ดิน หากสามารถทำได้ปัญหาที่ดินก็จะคลี่คลายลงได้ ราคาจะถูกลงและทุกคนจะเข้าถึงที่ดินได้โดยง่าย

อาลัย "ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์"

สำหรับบรรยากาศภายในงานวันนี้ มีประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมจากทั่วประเทศ โดยภายในงานได้มีการร่วมยืนไว้อาลัยให้แก่ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโส ผู้มีบทบาทพัฒนาสังคม อุทิศชีวิตเพื่อผู้ยากไร้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนจนและคนชายขอบ โดยท่านเสียชีวิตเมื่อช่วงค่ำวานนี้ ในวัย 85 ปี หลังเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นาน 6 เดือน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง