เปิดปม : ผู้ลี้ภัยในเงา

22 พ.ย. 61
17:36
1,023
Logo Thai PBS
เปิดปม : ผู้ลี้ภัยในเงา
ปัญหากลุ่มผู้ลี้ภัยในเขตเมืองของประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 8,000 คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันคนเหล่านี้ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตามชุมชนต่าง ๆ เพราะประเทศไทยยังปฏิบัติกับพวกเขาไม่ต่างจากผู้หลบหนีเข้าเมือง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับและส่งกลับไปเผชิญอันตราย

การจับกุมชาวเวียดนามและกัมพูชาทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 172 คน ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการจับกุมชาวต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่น่าสนใจคือภายหลังกลับมีการเปิดเผยจากองค์การด้านสิทธิมนุษยชนว่ากลุ่มคนที่ถูกจับส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยที่เรียกตัวเองว่า “มองตานญาด” ซึ่งอยู่ระหว่างขอสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

มองตานญาดคือใคร ?

คำว่า “มองตานญาด” (Montagnards) มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ผู้ที่อาศัยอยู่บนภูเขา” หรือ “ชาวเขา” ชาวฝรั่งเศสจึงใช้คำนี้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศเวียดนามและกัมพูชาในสมัยที่เข้าไปในประเทศเวียดนามในยุคล่าอาณานิคม

เหตุที่ทำให้ “มองตานญาด” มีปัญหากับรัฐบาลของประเทศบ้านเกิด เป็นเพราะพวกเขานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งถูกจำกัดความโดยรัฐว่าเป็น “ศาสนาต่างชาติ” จึงถูกสั่งห้ามนับถือ หรือประกอบพิธีกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดังกล่าว

ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามคนหนึ่งบอกว่า พวกเขาต้องแอบสวดอธิษฐานกันอย่าลับๆ ในช่วงเวลากลางคืน เพราะหากเจ้าหน้าที่ทราบจะถูกสั่งห้าม นอกจากนี้ผู้เผยแผ่ศาสนาหรือที่เรียกว่าศิษยาภิบาลหลายคนก็ถูกทำร้ายร่างกายตั้งแต่ทุบตีไปจนถึงใช้ไฟฟ้าช็อตตามร่างกายเพื่อบังคับให้เลิกนับถือศาสนา หลายคนต้องจบชีวิตลงจากการถูกวางยาพิษในอาหารเพียงเพราะไม่ยอมละทิ้งความเชื่อตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อหนีร้อนมาพึ่งเย็นกลายเป็นหนีเสือปะจระเข้

เมื่อการนับถือศาสนาในประเทศเวียดนามทำให้ชาวมองตานญาดต้องเผชิญกับภัยประหัตประหาร การเดินทางเพื่อลี้ภัยจึงเกิดขึ้น ประเทศที่ใกล้ที่สุดที่มีสำนักงานของ UNHCR ตั้งอยู่คือประเทศไทย พวกเขาจึงเลือกเดินทางมาที่นี่เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย ปัญหาที่พบ เมื่อคนกลุ่มนี้เดินทางมาที่ประเทศไทย คือการรับรองสถานะอาจใช้เวลานานหลายปีทำให้พวกเขาต้องอยู่ในประเทศไทยไปเรื่อยๆ เพื่อสัมภาษณ์และรอผลการรับรอง ระหว่างนั้นพวกเขาจะได้พบความจริงที่ว่าแม้ประเทศไทยมีสำนักงานของ UNCHR ตั้งอยู่ แต่กฎหมายของไทยกลับไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของผู้ลี้ภัย เพราะพวกเขาต้องมีสถานะไม่ต่างจากผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีโอกาสถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ

 

  

โดยทั่วไปเมื่อผู้หลบหนีเข้าเมืองถูกจับจะถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง แต่เมื่อพวกเขากลับประเทศไม่ได้เพราะต้องเผชิญภัยประหัตประหาร จึงต้องอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจนกว่าจะได้เดินทางไปประเทศที่ 3 หรือจนกว่าจะได้รับการประกันตัวซึ่งต้องใช้วงเงินกว่า 50,000 บาท

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยและหน้าที่ของรัฐในการดูแลผู้ลี้ภัย ประเทศไทยจึงยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยโดยตรง การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละยุคสมัยเป็นหลัก ปัญหานี้เองที่ทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยต้องอยู่อย่างหวาดกลัว

 

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดว่าการให้สิทธิกับผู้ลี้ภัยมากเกินไปจะเป็นปัจจัยเสริมในการดึงผู้ลี้ภัยจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยจนกลายเป็นภาระหนักของประเทศในอนาคต ในส่วนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ มองว่า การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจะช่วยแยกผู้ลี้ภัยออกจากผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั่ว ๆ ไป

หากประเทศไทยมีระบบการคัดกรองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นสากลจะทำให้ทราบว่าคนไหนไม่ใช่ผู้ลี้ภัยและสามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้อย่างถูกต้องตามหลักสากลและอย่างมีศักดิ์ศรี ส่วนใครที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องประสบภัยประหัตประหารจากประเทศต้นทางจริง ประเทศไทยก็ควรให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม ที่สำคัญนานาประเทศต้องให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในด้านนี้ด้วยมิใช่ให้ภาระตกอยู่ที่ประเทศแรกรับเพียงอย่างเดียว

ข้อมูลจาก UNHCR ระบุว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยที่อยู่นอกศูนย์ผู้ลี้ภัยราว 8,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก แม้เป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทย แต่เมื่อคนกลุ่มนี้มีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย ก็ทำให้เกิดคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ใช้ปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยอย่างเป็นมาตรฐานสากล แทนการให้ความช่วยเหลือตามนโยบายของแต่ละยุคสมัยที่ไม่มีความแน่นอนอย่างที่เป็นอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง