กังขา! ค่ายธรรมะกดดันเด็กจนดรอปเรียน-รักษาอาการทางจิต

สังคม
26 พ.ย. 61
16:48
1,653
Logo Thai PBS
กังขา! ค่ายธรรมะกดดันเด็กจนดรอปเรียน-รักษาอาการทางจิต
กระทู้ออนไลน์เล่าประสบการณ์ค่ายธรรมะในโรงเรียน เมื่อ 4 ปีก่อน กดดันจนเพื่อนต้องดรอปเรียนและเข้าพบจิตแพทย์ ด้านพี่ชายเด็กยืนยันต้องรักษาและกินยาตลอดชีวิตหวั่นอาการกำเริบ จิตแพทย์ชี้ผู้ปกครองควรติดตามอาการเด็กและรับฟังปัญหาเพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหาสุขภาพจิต

วันนี้ (26 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เว็บไซต์พันทิปได้ตั้งกระทู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายธรรมะสำหรับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยจัดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของกระทู้ได้อธิบายรายละเอียดกิจกรรมภายในค่ายมีการเชิญพระอาจารย์ท่านหนึ่งจาก จ.สุราษฎร์ธานี มาอบรม โดยมีการเปิดคลิปวิดีโอที่ส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้เด็กกดดัน ร้องไห้อย่างคลิปเชือดสัตว์ที่มีเลือดไหลออกมาจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมลงโทษอย่างการให้เด็กนำข้าวที่เหลือมาเทรวมกันแล้วให้คุณครูรับประทาน หรือให้รุ่นพี่นำรองเท้าห้อยคอกว่า 10 คู่ เนื่องจากวางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ จนทำให้เด็กร้องไห้

คืนนั้นมีพิธีสาบานตน ใครยุ่งกับยาเสพติดขอให้เสียชีวิต พร้อมเปิดวิดีโอให้ดูโดยอ้างว่าเด็กที่เคยสาบานตนแล้วไม่ทำตามถูกรถชนเสียชีวิต ซึ่งให้ยืนสาบานตนจนถึงตี 5 และให้ตื่น 7 โมง เด็ก 16 ปี นอน 2 ชั่วโมง ก็ล้มป่วยกันยกค่าย

ขณะที่ในกระทู้ดังกล่าวได้มีการเล่าถึงกรณีเพื่อนคนหนึ่งที่ร้องไห้ตลอดเวลา และเริ่มพูดแปลกๆ และมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลังกลับจากค่ายผู้ปกครองได้พาไปพบจิตแพทย์ และต้องดรอปเรียนเพื่อรักษาตัว 1 ปี โดยปัจจุบันก็ยังคงรักษาอย่างต่อเนื่อง  

ดรอปเรียน 1 ปี รักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต

ล่าสุด ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่า เฟซบุ๊ก Jettapon Kraimark ได้เผยแพร่ข้อความ โดยระบุว่า ผมเองเป็นพี่ชายของน้องที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์จากเหตุการณ์นั้นถึงตอนนี้ก็ประมาณ 4 ปีแล้วครับ ผมเพิ่งมารู้รายละเอียดกิจกรรมจริงๆ จากกระทู้นี้ ก่อนหน้านี้รู้เพียงว่าเป็นค่ายธรรมะที่มีการกดดันให้เด็กสำนึกผิด ใครที่จิตใจไม่เข้มแข็งอาจจะจิตตกได้

ตอนนั้นผมไม่ได้โทษใครเลย คิดว่าน้องเรานี่แหละที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอเพราะเด็กคนอื่นก็ไม่เห็นเป็นอะไรกัน

ยอมรับเลยว่าตกใจเหมือนกันที่เจอน้องหลังจากกลับจากค่ายนี้ น้องพูดแต่ขอโทษๆ "ขอโทษนะแม่, ขอโทษนะพ่อ, ขอโทษนะพี่" น้องมีอาการหวาดระแวงใจสั่นตลอดเวลา ไม่สามารถนอนหลับกลางคืนได้

พอกลางคืนน้องจะก้มลงกราบทุกคนในบ้านแล้วบอกว่า "น้องขอโทษๆ" ที่บ้านต่างพากันสงสัยว่าน้องไปทำผิดอะไรมา ปรากฎว่า น้องสำนึกผิดที่ไม่ใช่ผู้ชายร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งเรื่องนี้ผมและที่บ้านก็พอรู้กันอยู่แล้ว และได้มีการพูดคุยว่าทุกคนยอมรับได้ในตัวน้อง แต่เรื่องยังไม่จบ

น้องผมยังคงกราบทุกคน ทุกคืน ร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับวันอาการหนักขึ้น ไม่กล้าเจอหน้าใคร คิดว่าตัวเองผิดมากที่เป็นเพศที่สาม ไปมุดใต้โต้ะร้องไห้คนเดียวจนคนในบ้านเห็นท่าไม่ดี จึงพาไปพบจิตแพทย์

จิตแพทย์ให้น้องรับประทานยาและให้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลเฉพาะทางใน จ.สุราษฎร์ธานี และดรอปเรียน 1 ปี รักษาอยู่ประมาณ 2-3 เดือน อาการก็ดีขึ้นแต่ยังไปเรียนไม่ได้ ต้องรักษาสภาพจิตใจที่บ้านต่อและต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดชีวิตเพราะอาการสามารถกลับมาเกิดได้เสมอ

สุดท้าย อยากฝากถึงค่ายธรรมะนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าค่ายธรรมะได้หรือเปล่า ควรหยุดทำกิจกรรมนี้เถอะ มันไม่มีประโยชน์เลย เพราะกิจกรรมแต่ละอย่างเหมือนเป็นการบีบบังคับและกดดันให้เด็กยอมสารภาพความผิดเหมือนกับเด็กเป็นนักโทษและเหมือนจะมีการขู่ทำร้ายร่างกาย เป็นใครก็กลัว ยิ่งเป็นเด็กมัธยมที่ไม่เคยโดนสภาวะกดดันแบบนี้ บอกเลยว่าจิตตกได้เลย ท้ายสุดขอฝากถึงโรงเรียนว่า น่าจะมีการตรวจสอบกิจกรรมของค่ายให้ดีก่อนจัดขึ้นมา และขอขอบคุณน้องคนที่เขียนกระทู้นี้ขึ้นมาครับ

เด็กไม่สามารถกำจัดความกลัวได้เหมือนผู้ใหญ่

ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ค่ายธรรมะของโรงเรียนต่างๆ อาจมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยในกรณีนี้แพทย์เองยังไม่ทราบรายละเอียดของกิจกรรมที่แน่ชัดจึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กเกิดปัญหาสุขภาพจิตจากกิจกรรมค่ายธรรมะนี้หรือไม่ 

ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตนั้น อาจเกิดจากเด็กที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เมื่อต้องเผชิญกับการกระตุ้นทั้งจากการลงโทษหรือแม้แต่การเปิดคลิปวิดีโอที่มีความรุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดโรคทางอารมณ์ได้

สำหรับโรคนี้มีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่ร้องไห้ ไปจนถึงมีอาการซึมเศร้า ตลอดจนมีความวิตกกังวล และอาจรุนแรงถึงขั้นหูแว่วและเกิดภาพหลอนได้ โดยอาการเหล่านี้สามารถแสดงออกมาได้ย้อนหลังนาน 6 เดือน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้

นพ.วรตม์ ยังระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กโดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีความเข้มแข็งของจิตใจไม่เท่าผู้ใหญ่นั้น ไม่สามารถกำจัดความกลัวออกไปได้เหมือนผู้ใหญ่ในกรณีที่พบเจอกับความรุนแรงต่างๆ ดังนั้น ผู้ปกครองควรติดตามอาการของบุตรหลานและชวนพูดคุย เพื่อให้เด็กกล้าที่จะบอกเล่าประสบการณ์เพื่อให้ทราบสถานการณ์และไปนำสู่การแก้ไขปัญหาได้

นพ.วรตม์ ยังเสนอว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับเด็กในวัยนี้ควรเน้นสนับสนุนด้านการเรียน การศึกษาและเน้นให้เชื่อมั่น กล้าแสดงออกและกล้าที่จะเรียนรู้มากกว่าเน้นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความกลัว ซึ่งสอดคล้องกับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆกษกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า การจัดกิจกรรมค่ายต่างๆ ควรเน้นที่หลักการและเหตุผลมากกว่าการใช้ความกลัวที่อาจไม่เป็นผลในระยะยาวและยังอาจก่อให้เกิดผลเสียอื่นๆ อีกด้วย

ผู้ปกครองเน้นรับฟัง แก้ปัญหาสุขภาพจิตเด็ก

ส่วนปัญหาสุขภาพจิตของเด็กอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ในกรณีนี้ยังไม่ทราบแน่ใจชัดว่าเด็กเป็นโรคอะไร ซึ่งต้องเป็นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นจึงจะสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าเด็กได้รับผลกระทบจนส่งผลถึงการเกิดโรคทางอารมณ์จากกิจกรรมนี้หรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้รับการรักษา เริ่มต้นด้วยการสังเกต รับฟัง  เนื่องจากเพียงแค่ได้เล่าหรือระบายออกมาให้คนที่พร้อมจะเข้าใจและช่วยเหลือเด็กก็จะสบายใจขึ้น อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการดุด่า ซ้ำเติม 

สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ทราบวิธีการรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของบุตรหลานสามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเด็กที่มีปัญหาหรือไม่สบายใจก็สามารถโทรปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิตเช่นกัน

แม้จะไม่ได้ป่วย แต่มีความเครียดก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เช่นเดียวกัน แต่หากมีความเครียดสะสม นอนไม่หลับ จนส่งผลไปถึงสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้องก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง