เร่งช่วย "โลมาลายแถบ" บาดเจ็บเกยตื้นหาดในยาง จ.ภูเก็ต

สิ่งแวดล้อม
29 พ.ย. 61
15:22
380
Logo Thai PBS
เร่งช่วย "โลมาลายแถบ" บาดเจ็บเกยตื้นหาดในยาง จ.ภูเก็ต
ชาวประมงแจ้ง "โลมาลายแถบ" บาดเจ็บบริเวณครีบหลังและปาก เกยตื้นติดซอกหินหน้าหาดในยาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่เร่งช่วยลงบ่ออนุบาลและรักษาตามอาการ หวังปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

วันนี้ (29 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ว่าพบโลมาเกยตื้นมีชีวิตที่บริเวณหน้าหาดในยาง ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยชาวประมงพื้นบ้านหาดในยางเป็นผู้พบโลมาตัวดังกล่าว จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ฝั่งทะเลอันดามัน ลงพื้นที่โดยได้พบโลมาได้ว่ายน้ำออกไปแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ฝั่งทะเลอันดามัน ได้เฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นของโลมา เมื่อเวลา 10.00 น. ก็ได้พบโลมาตัวเดิมกลับเข้ามาเกยตื้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการได้รับบาดเจ็บและถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นในบริเวณดังกล่าว จึงได้เข้าช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ พร้อมกับได้ทำการขนย้ายโลมาที่เกยตื้นมาอนุบาลไว้ที่บ่อพักฟื้นของศูนย์วิจัยทะเลฯ อันดามัน เพื่อรักษาและฟื้นฟูอาการป่วยต่อไป

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็นโลมาลายแถบ ขนาดความยาว 180 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ยังไม่ทราบเพศ มีบาดแผลบริเวณครีบหลังและปากที่เกิดจากมาเกยตื้นและติดอยู่ในซอกหิน และพยายามที่จะดิ้นจนเกิดบาดแผล

ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทะเลฯ อันดามัน ได้นำรถพยาบาลสัตว์หายากเคลื่อนที่มารับโลมา และในระหว่างทางแพทย์ก็ได้ช่วยโดยการนำน้ำมาชโลม เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายโลมา

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


นอกจากนี้ยังใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำคลุมตัวไว้ และเมื่อเดินทางมาถึงก็ได้นำโลมาลงบ่ออนุบาล แต่ต้องช่วยพยุงตัวพร้อมทั้งใช้ชูชีพช่วยในการพยุง เนื่องจากโลมาดังกล่าวไม่สามารถทรงตัวได้ อีกทั้งเอาหัวมุดน้ำตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้สำลักน้ำได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้มีการให้ยาคลายเครียด สารน้ำ รวมถึงเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุการเจ็บป่วย ก่อนที่จะทำการรักษาตามอาการ และถ้าหากโลมาตัวดังกล่าวหายดีแล้วจะได้ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง