กกต.ยืนยันแบ่งเขตเลือกตั้งคำนึงถึงปัจจัยอย่างรอบด้าน

การเมือง
29 พ.ย. 61
16:33
385
Logo Thai PBS
กกต.ยืนยันแบ่งเขตเลือกตั้งคำนึงถึงปัจจัยอย่างรอบด้าน
กกต.ขอให้ฝ่ายการเมืองยอมรับการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ โดยยืนยันการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามกรอบกฎหมาย พร้อมทั้งคำนึงถึงปัจจัยอย่างรอบด้าน ทำให้มีรูปแบบที่ 4 ในการแบ่งเขต หลังรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

วันนี้ (29 พ.ย.2561) นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ได้รับข้อร้องเรียนคัดค้านการแบ่งเขตจำนวน 98 คำร้องในพื้นที่ 33 จังหวัด ที่ได้รับจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักการเมืองที่จะสมัครลงรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับเห็นชอบให้มีการประกาศเขตเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 350 เขต โดยย้ำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 27 ที่กำหนดให้การแบ่งเขตเลือกตั้งคำนึงถึงพื้นที่การติดต่อใกล้ชิดกันมีความสะดวกในการคมนาคมและเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน

แต่หากการแบ่งเขตตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ทำให้จำนวนประชากรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน หรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ก็ให้ดำเนินการแบ่งเขตตามสภาพของชุมชน โดยจะต้องให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด ส่วนข้อร้องเรียน 11 คำร้องที่ได้รับหลังการเปิดรับแล้ว หรือรับในระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน เป็นคำร้องแสดงความคิดเห็นต่อรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประมวลและนำเสนอต่อ กกต.รับทราบแล้ว

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเข้าสู่การเตรียมบุคลากร เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งให้มีความพร้อมการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งประกาศออกมา จากนั้น กกต.กำหนดวันเลือกตั้งและประกาศวันเปิดรับสมัคร กำหนดวันเลือกตั้งและประกาศวันเปิดรับสมัคร ส.ส.ในเดือนมกราคมปี 2562 และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง โดยความชัดเจนทั้งหมดจะเกิดขึ้นระหว่างการหารือของ คสช. แม่น้ำ 5 สายและพรรคการเมือง วันที่ 7 ธันวาคมนี้ โดยมั่นใจว่านับจากนี้ กระบวนการจะเดินหน้าอย่างเต็มที่และไม่สะดุดหยุดอยู่ คู่ขนานกับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.

นายณัฏฐ์ ย้ำว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในรอบแรกก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 ออกมานั้น กกต.ยึดตามกรอบของกฎหมาย แต่ภายหลังที่มีข้อเสนอแนะเรื่องการแบ่งเขตจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง กกต.เห็นว่าเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับกฎหมาย อีกทั้งรูปแบบก็ดีกว่าเดิม จึงได้มีการปรับปรุงภายใต้กรอบของกฎหมายเป็นหลักรูปแบบที่ 4 เช่น มีพื้นที่ติดต่อกันและการคมนาคมสะดวกและการมีสภาพของวิถีชุมชนจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันทั้งอำเภอหลักและอำเภอรอง พิจารณาจากหลายปัจจัยของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละจังหวัด รวมถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้ยืนยันว่ารูปแบบที่ออกมาดีที่สุดหรือไม่ แต่อิงถึงสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

ส่วนกรณีที่มีการแบ่งอำเภอในบางจังหวัดออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นอำเภอเมืองส่วนใหญ่ในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีจำนวนประชากรมากเกินไป จำเป็นต้องแบ่งออก แต่โดยหลักแล้วคณะกรรมการจะพิจารณา โดยไม่แบ่งอำเภอลำดับรองลงมาเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ คำนึงถึงผลประโยชน์ได้เสียของประชาชนเป็นหลัก ถ้าอำเภอใดที่ถูกแบ่งออก 1-2 ตำบล ซึ่งได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองน้อยลง หรือทำให้นักการเมืองไม่สนใจในตำบลนี้ นั้นการแบ่งตำบลออกจากอำเภอส่วนใหญ่จะแบ่งในตำบลที่มีจำนวนประชากรที่เพียงพอให้มีอำนาจต่อรองได้

รองเลขาธิการ กกต.ระบุถึงการประกาศเป็นเขตในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนจากนักการเมืองในพื้นที่ว่าจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขาและเป็นจังหวัดชายแดน และระยะห่างของพื้นที่การกระจุกตัวของประชาชนก็เป็นปัจจัยต้องคำนึงถึงเรื่องของการหาเสียงในเขตพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่และประชากรกระจายตัว คนที่ได้พื้นที่ขนาดเล็กและมีการกระจุกตัวของประชากรมันจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบและความยากง่ายของการหาเสียง

ขณะเดียวกัน ขอให้ฝ่ายการเมืองยอมรับ หากเกิดผลกระทบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอ้างอิงถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวน ส.ส.ที่มีการกำหนดจำนวนราษฎร ต่อ ส.ส. 1 คนในการแบ่งเขต ทำให้บางจังหวัดถูกแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่เลยทั้งจังหวัดมาแล้ว โดยยกตัวอย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเขตเลือกตั้ง แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวน ส.ส. ด้วยเหตุผลที่ประชากรหายไปจากพื้นที่มากกว่า 60,000 คน อาจจะเพราะการอพยพหนีออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะย้ำว่าปัจจัยในการเลือกผู้แทนราษฎรไม่เพียงแค่บุคคลเท่านั้น ที่สำคัญคือเรื่องของนโยบายเป็นปัจจัยของการตัดสินใจเลือกของประชาชน

นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า เอกสารการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) ไม่ได้หลุดออกมาจากเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต. เนื่องด้วยจากบทเรียนในการแบ่งเขตรอบแรก จึงมีการปรับปรุงรูปแบบและจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ถึงเชื่อมั่นเราไว้วางใจเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์เอาผิดอะไร ควรที่จะก้าวสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแมป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง