เผยสถิติติดเชื้อ HIV รายใหม่วันละ 15 คน แนะตรวจเลือดเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์

สังคม
1 ธ.ค. 61
14:44
7,697
Logo Thai PBS
เผยสถิติติดเชื้อ HIV รายใหม่วันละ 15 คน แนะตรวจเลือดเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์
ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการรังเกียจ แนะนำกลุ่มเสี่ยง ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ในปี 2561 นี้ กรมควบคุมโรคกำหนดคำขวัญวันเอดส์โลก คือ “Know Your Status : ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจในเรื่องของเอชไอวีและเอดส์

ปัจจุบันประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือไม่เกินปีละ 1,000 คน ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้ไม่เกินปีละ 4,000 คน ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาพ ลงจากเดิมร้อยละ 90

โดยใช้การจัดระบบบริการให้เข้าถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้รู้สถานะการติดเชื้อของตัวเองเร็วที่สุด พร้อมได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส รวมถึงกดไวรัสได้สำเร็จ ทุกภาคส่วนๆ ต้องทำได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90

นพ.ศรายุทธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักโรคเอดส์ฯ กรมควบคุมโรค ระบุว่า การทำให้คนที่มีความเสี่ยงทุกคนเข้าถึงการตรวจเลือด และหาเชื้อเอชไอวีได้เร็ว เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ส่งเสริมการรักษาได้เร็ว ช่วยให้ผู้ติดเชื้อใช้ชีวิตและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

ปัจจุบันสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และยังมีการรังเกียจ กีดกัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ด้วย 

ข้อมูลในปี 2560 ที่ผ่านมา คาดว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 5,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 15 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 440,000 คน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเองแล้วร้อยละ 98 แต่มีเพียงร้อยละ 75 ของผู้ที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และในจำนวนของผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส มีเพียงร้อยละ 84 ที่กดไวรัสได้สำเร็จ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วางแผนยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกปี 2563 ให้ลดต่ำกว่าร้อยละ 1 พร้อมเน้นการเข้ารับการบริการปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างมีคุณภาพ สำหรับหญิงทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์ รวมทั้งสามี

โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูง เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และเด็กจะได้รับยาต้านไวรัสแรกเกิด รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยหาการติดเชื้อ และการติดตามดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง