นักปั่นพร้อมไหม? จักรยานพร้อมไหม? เช็กให้ดีก่อนลุย Bike อุ่นไอรัก

ไลฟ์สไตล์
7 ธ.ค. 61
14:10
1,576
Logo Thai PBS
นักปั่นพร้อมไหม? จักรยานพร้อมไหม? เช็กให้ดีก่อนลุย Bike อุ่นไอรัก
นักปั่นกว่า 6 แสนคน ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Bike อุ่นไอรัก คงอยู่ระหว่างการเตรียมตัวซึ่งต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและรถจักรยาน ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดวิธีเตรียมตัวที่ถูกต้องและปลอดภัย นักปั่นลองเช็กดูทำครบทุกข้อแล้วหรือยัง

เว็บไซต์พระลาน www.phralan.in.th แนะนำการเตรียมความพร้อมและการปฎิบัติบำรุงรถจักรยานให้กับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Bike อุ่นไอรัก ในวันที่ 9 ธันวาคม 2561 เพื่อให้การปั่นจักรยานครั้งนี้ไม่เกิดอันตราย

เคารพ-ปฎิบัติตามกฎจราจร 

ปฎิบัติตามป้ายและไฟสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ต้องหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดง เช่นเดียวกับยานพาหนะอื่นๆ และจอดหยุดอยู่หลังเส้นขาวหนาที่พื้น 

มีไฟส่องสว่างยามค่ำคืน

พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า รถจักรยานต้องติดไฟส่องสว่างสีขาวด้านหน้า และไฟสีแดง หรือกระจกสะท้อนแสงสีแดงด้านหลัง รวมทั้งสวมใส่สายคาด หรือเสื้อกั๊กที่มีแถบสะท้อนแสงเพิ่มเติม ก็สามารถช่วยให้คนขับรถเห็นผู้ปั่นจักรยานได้ชัดจากระยะไกลในยามค่ำคืน

มีอุปกรณ์ให้สัญญาณที่เหมาะสม

รถจักรยานต้องมีกระดิ่งเพื่อให้สัญญาณ หรืออาจใช้แตรก็ได้ แต่ควรเลือกแตรที่เหมาะสมไม่ส่งเสียงดังเกินไป

ไม่ปั่นจักรยานบนทางเท้า

หลีกเลี่ยงการปั่นจักรยานบนทางเท้า นอกจากมีการทาสีตีเส้นหรือแบ่งพื้นที่ให้จักรยานใช้บนทางเท้าอย่างชัดเจน ต้องใช้ความเร็วต่ำ หากตกอยู่ในสภาพที่หลีกกันไม่ได้ ต้องให้คนเดินเท้าได้สิทธิ์ใช้เดินไปก่อนเสมอ

อันตราย! อย่าเกาะรถ

อย่าเกาะรถที่กำลังแล่นอยู่ข้างหน้า การใช้มือเกาะรถที่แล่นอยู่ข้างหน้าเพื่อผ่อนแรงในการขี่จักรยานเป็นสิ่งที่อันตรายมาก และผิดกฎจราจร และอย่าบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป

 

 

ควรใช้สัญญาณมือ

เรียนรู้สัญญาณมือในการบอกให้ผู้ใช้ถนนอื่นรู้ว่าเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร และฝึกทักษะให้สามารถปั่นจักรยานโดยใช้มือเดียวจับแฮนด์ และอีกมือ-แขนให้สัญญาณได้ถูกต้องอย่างคล่องแคล่ว โดยที่จักรยานทรงตัวได้ดี จากนั้นก็ใช้สัญญาณมือให้เป็นนิสัย

สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง

เลือกหมวกที่ผลิตได้มาตรฐาน มอก. ควรเลือกสีโทนสีสว่าง มีขนาดพอดีศีรษะและเวลาสวมควรปรับสายรัดให้กระชับ

ขนาดจักรยานต้องเหมาะสม

เลือกขนาดเฟรมที่เหมาะสมกับตัวเอง จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการปั่นได้

เลือกอาน-ปรับตำแหน่งให้ถูกต้อง

ควรเลือกให้เหมาะกับสรีระ อานแบบเจลหรือแบบหนังแกะจะช่วยลดอาการเสียดสีได้ ควรให้อานอยู่สูง หากปรับเตี้ยเกินไป จะมีผลต่อการส่งกำลังในการปั่นและเมื่อยล้า

 

 

เริ่มปั่นอย่างช้าๆ อย่าหักโหม

ผู้ที่เริ่มหัดขับจักรยาน ในระยะแรกควรปั่นด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก ปั่นเป็นเวลาครั้งละ 30 นาที ทำต่อเนื่อง 3-4 อาทิตย์ โดยเลือกเส้นทางเรียบ จากนั้นค่อยเริ่มปั่นในเส้นทางที่มีเนินหรือขึ้นสะพาน เพื่อปรับสภาพร่างกายและพัฒนาทักษะในการปั่นเบื้องต้น

เลือกสวมใสเสื้อผ้าสบายๆ

ควรเป็นชุดที่มีความกระชับขนาดพอดีตัว เนื้อผ้าระบายได้ดี งดใส่เสื้อผ้าที่มีตะเข็บ เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีทำให้ผิวหนังได้

การเบรก-ใช้เกียร์

ในการเบรกไม่ว่าจะปั่นด้วยความเร็วปกติ เพื่อชะลอหรือว่าเบรกเพื่อหยุดกะทันหัน ควรเบรกด้วยการบีบก้านเบรกพร้อมกันทั้งหน้าและหลัง เพื่อไม่ให้เสียการทรงตัว และให้โยกสะโพกไปทางด้านหลัง ด้วยเพื่อไม่ให้รถเสียหลัก ควรฝึกการเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์ต่ำมาเป็นเกียร์สูง เพราะจะช่วยลดแรงกดบริเวณเข่าได้

ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

สาเหตุหลักของการปั่นจักรยานแล้วมีอาการเมื่อยมือ แขน ขา และฝ่าเท้า เป็นเพราะปั่นอยู่ในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป ระหว่างปั่นลองเปลี่ยนท่าและอิริยาบถต่างๆ เช่น ขยับตำแหน่งและองศาการจับแฮนด์และลำตัว ขยับคอ และตำแหน่งที่นั่งบนอาน ผ่อนคลายการบีบมือที่แฮนด์ไม่ให้แน่นเกินไป

นอกจากรถจักรยานแล้ว ร่างกายของนักปั่นก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน โดยฝึกซ้อมให้ใกล้เคียงกับระยะทางในการร่วมขบวน ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรือของมึนเมา พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง รับประทานอาหารล่วงหน้า อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อบอุ่นร่างกายก่อนปั่นจักรยาน และคำนึงถึงขีดความสามารถของสุขภาพตนเอง 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง