นายกฯนั่งหัวโต๊ะ ประชุมแม่น้ำ 5 สาย บ่ายนี้

การเมือง
7 ธ.ค. 61
11:15
545
Logo Thai PBS
นายกฯนั่งหัวโต๊ะ ประชุมแม่น้ำ 5 สาย บ่ายนี้
วันนี้ (7 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะเป็นประธานการประชุมแม่น้ำ 5 สาย และพรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี เพื่อร่วมกันจัดทำแผน ตามข้อ 8 ในคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ในเวลา 13.30 น.วันนี้

วันนี้ (7 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะเป็นประธานการประชุมแม่น้ำ 5 สาย และพรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี เพื่อร่วมกันจัดทำแผน ตามข้อ 8 ในคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ในเวลา 13.30 น.วันนี้

เวทีการพูดคุยและหารือครั้งนี้ จะมี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพรรคการเมืองเข้าร่วม และผลลัพธ์จะต้องได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 11 ธ.ค.โดยเฉพาะประเด็นที่ทุกองคาพยพต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

ประเด็นหารือสำคัญ คือการพิจารณาวันปลดล็อกการเมือง ด้วยการยกเลิกคำสั่ง คสช.อย่างน้อย 3 ฉบับ ที่เกี่ยวพันกับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง แต่อาจจะยกเว้นบางข้อในคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบ ทั้งเรื่องความผิดต่อสถาบัน ความผิดเรื่องอาวุธปืนและวัตถุระเบิด รวมถึงการให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจในการเรียกบุคคลมารายงานตัว การยึดทรัพย์สิน หรือแม้แต่การห้ามเสนอข่าว หรือเผยแพร่สิ่งพิมพ์ การควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยกระทำความผิดต่อความมั่นคง

นอกจากการเตรียมประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช.เพื่อปลดล็อกการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศสู่การเลือกตั้งแล้ว ก็มีรายงานว่า คสช.เตรียมประกาศคำสั่ง คสช.อีกฉบับหนึ่ง เรื่องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อดูแลและควบคุมทุกสถานการณ์ ไปจนกว่ามีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน

มีรายงานว่า คสช.อาจจะนำผลการประชุมวันนี้ ไปอ้างอิงออกคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ ที่ว่าด้วยมาตรการด้านความมั่นคง ซึ่งมีรายงานว่า คสช.จะใช้คำสั่งนี้ ดูแลและควบคุมสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้ง นับแต่ประกาศปลดล็อกไปจนถึงวันที่มีรัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยเนื้อหาคำสั่งน่าจะกำหนดพื้นที่ให้ปลอดภัยในการหาเสียงเลือกตั้ง คุ้มครองการใช้กำลังทางทหาร ควบคุมดูแลสถานการณ์การเมืองและบ้านเมือง เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าขณะนี้จะมีกฎหมายปกติรองรับ ทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กฎอัยการศึกษาก็ตาม

หลักการและเหตุผลหลักของ คสช.คือ ยังไม่แน่ใจถึงสถานการณ์บ้านเมือง ที่กำลังเดินไปยังจุดเปลี่ยนผ่าน ระหว่างรัฐบาลทหาร และรัฐบาลเลือกตั้ง หลังหน่วยงานด้านความมั่นคง พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มใต้ดิน ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง และกลุ่มหัวหน้ารุนแรง ที่อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการล้มการเลือกตั้ง และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความวุ่นวายเหมือนในอดีตได้ ในจำนวน 105 พรรคการเมือง ตามคำเชิญของ คสช.นั้น มีหลายพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วม ขณะที่พรรคการเมืองที่ปฏิเสธเข้าร่วม ให้เหตุผลคล้ายๆกัน คือ การไม่ยอมรับบทบาทของหัวหน้า คสช. "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ที่จะนั่งหัวโต๊ะหารือกับพรรคการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ด้วยมีส่วนได้เสียทางการเมือง เพราะเป็นผู้ที่พรรคพลังประชารัฐ เตรียมจะเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า "เราพยายามทำตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เมื่อ กกต.เรียกประชุมทุกครั้งเราจะไปเข้าร่วม ไม่คิดว่า รัฐบาลและ คสช.ในฐานะที่เป็นแคนดิเดตในตำแหน่งนายกฯ แล้วตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยใช้ชื่อเดียวกันกับโครงการของรัฐบาล แล้วจะมาจัดการเลือกตั้งอีก โดยมี ม.44 อีกมันไม่ใช่หลักเกณฑ์"

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "ก็ยังสงสัยอยู่ว่า กฎหมายที่เป็นคำสั่งของ คสช.เขียนมาเพื่อให้เกิดการหารือกัน แต่ในหนังสือเชิญ พูดง่ายๆว่า เขียนมาเพื่อให้ไปฟังคำชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญคือเราไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนหารือ ซักถาม จริงหรือไม่ เนื่องจากโฆษก คสช.บอกว่าจะไม่มีการตอบคำถามใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก "

แต่ในมุมของ คสช. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองหัวหน้า คสช.กลับเชื่อว่า เจตนาของพรรคการเมือง ที่ปฏิเสธเข้าร่วม คือการตีรวน ก่อนจะชี้ว่า ท่าทีนั้นไม่ได้ผิดไปจากการคาดการณ์และจะไม่ส่งผลกระทบกับวงหารือวันนี้

ถ้าประมวลจากบริบทแวดล้อมจะเห็นว่า เป้าประสงค์ของ คสช.ที่ต้องเปิดประชุมหารือครั้งนี้ คือการจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการสู่การเลือกตั้ง แต่ในหนังสือคำเชิญอ้างอิงว่า เพื่อรับฟังความเห็นซึ่งฝ่ายการเมืองต่างก็ตีความว่า คสช.จัดทำแผนที่ว่านี้เสร็จแล้วแต่จัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการเท่านั้น

วงหารือวันนี้จะเริ่มด้วยการชี้แจงขั้นตอนดำเนินการ โดย รัฐบาล และ คสช. และในรายละเอียด จะให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นผู้ชี้แจง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะชี้แจงในมิติความมั่นคง ขณะที่ กกต.จะชี้แจงขั้นตอนการรับสมัคร หรือข้อห้ามต่างๆ ก่อนจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองตั้งประเด็นคำถาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง