ปลดล็อกการเมือง หาเสียง-ปราศรัยเตรียมเลือกตั้ง

การเมือง
12 ธ.ค. 61
12:16
1,766
Logo Thai PBS
ปลดล็อกการเมือง หาเสียง-ปราศรัยเตรียมเลือกตั้ง
คำสั่งคสช. ปลดล็อกการเมือง เปิดโอกาสพรรคการเมืองหาเสียงและเตรียมความพร้อมผู้สมัครส.ส. สู่การเลือกตั้ง รวมถึงปลดล็อกธุรกรรมการเงินนักการเมืองด้วย

หลังมีคำสั่งคสช. ที่ 22/2561 ปลดล็อกพรรคการเมือง ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และยกเลิกคำสั่งคสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง มีหลายประเด็นที่มีความชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางของพรรคการเมืองในการหาเสียงนับจากนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 11 ธ.ค. ยืนยันประเด็นที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทำได้นับจากนี้ โดยช่วงนี้ดำเนินการได้อย่าง “อิสระ” จนกว่าจะมีประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งส.ส. ที่ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

 

จากการสัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรีสรุปสิ่งที่นักการเมืองทำได้ ดังนี้

-ลงพื้นที่พบปะประชาชน
-จัดเวทีปราศรัย
-ขึ้นป้ายคัตเอาท์
-ประชุมผู้สมัคร ส.ส.
-ปลดล็อกการเคลื่อนไหวทางการเมือง
-ปลดล็อกการเงิน
ฯลฯ

เมื่อมีพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบ อะไรที่เคยคิดว่าอิสระก็ต้องมาดูกติกาการหาเสียงว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่การยกเลิกคำสั่งและประกาศคสช. 9 ฉบับ ตามคำสั่งคสช. ที่ 22/2561 มีสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 10/2557
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ สามารถทำนิติกรรมและธุรกรรมทางการเงินได้
2.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 10/2557
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ สามารถทำนิติกรรมและธุรกรรมทางการเงินได้
3.ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 39/2557
ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเกี่ยวกับการรายงานตัวของบุคคลตามคำสั่งหรือประกาศคสช.
4.ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 40/2557
ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก
5.ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 57/2557
ยกเลิกการใช้ พ.ร.ป.บางฉบับ เพราะมีฉบับใหม่ประกาศใช้แทนแล้ว
6.ปลดล็อกให้นักการเมือง 18 คน อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ฯลฯ เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ 
7.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558
ยกเลิกการสั่งห้ามมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป
8.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560
ยกเลิกรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองบางส่วน เพราะการดำเนินการต่างๆ ทำได้แล้ว
9.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ยกเลิกข้อ 6 ทำให้สามารถหาเสียงออนไลน์ได้

ทั้งนี้การยกเลิกคำสั่งคสช. ข้างต้น มีสาระสำคัญ คือการยกเลิกคำสั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น คำสั่งคสช. 3/2558 ที่ห้ามมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และยังมีการปลดล็อกให้นักการเมืองคนสำคัญ สามารถดำเนินการทางธุรกรรมการเงินและเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. ด้วย

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การหาเสียง ที่ทำได้อย่างเป็น "อิสระ" ตามคำสัมภาษณ์ของนายวิษณุ จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นไปตามโรดแมปจะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง วันที่ 2 ม.ค.2562 โดยนับจากนั้นการ "หาเสียง" จะต้องเป็นไปตามกรอบในกฎหมายกำหนด

เส้นทางเลือกตั้ง

2 ม.ค.    ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. (เริ่มหาเสียงได้/เริ่มคิดค่าใช้จ่าย)
4 ม.ค.    กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง, วันรับสมัคร, จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด ฯลฯ
14-18 ม.ค. รับสมัครและพรรคแจ้งชื่อผู้เสนอเป็นนายกฯ (5 วัน)
25 ม.ค.  กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต /บัญชีรายชื่อของทุกพรรค
25 เม.ย. วันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง
28 เม.ย. วันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือก ส.ว. ครบ 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ
9 พ.ค.    วันสุดท้ายการประชุมรัฐสภาครั้งแรก
             ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี
             ครม.และ คสช.จะพ้นจากตำแหน่ง และครม.ใหม่ แถลงนโยบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง