รฟท.ยังไม่เคาะผลประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

เศรษฐกิจ
12 ธ.ค. 61
14:37
784
Logo Thai PBS
รฟท.ยังไม่เคาะผลประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน "ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา" คาดว่าสามารถประกาศผลการประมูลได้ในเดือน ม.ค.2562 ขณะที่ รฟท.ระบุการพิจารณาตัดสินผลการประมูลจะดูที่การเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุดและเสนอผลตอบแทนให้รัฐบาลมากที่สุด

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พบว่ามีบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ถึง 31 ราย แต่มีกลุ่มกิจการเข้ายื่นข้อเสนอ 2 ราย ดังนี้

1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง

2. กิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, China Railway ConstructionCorporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ

ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ มีการประชุมหารือซองประมูลที่ 2 โดยได้พิจารณาด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้ว โดยพบว่าทั้ง 2 กลุ่มกิจการมีคุณสมบัติครบถ้วนและได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค

ส่วนการดำเนินการประเมินซองข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยราคาได้ จนกว่าที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบเอกสารราคาจนครบถ้วนเรียบร้อย โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลราคาที่แน่นอนได้ภายในวันที่ 14 ธ.ค.2561 หลังจากนั้นขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศผู้ชนะจะต้องผ่านการเจรจาต่อรองกันก่อน

และนำร่างสัญญาส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าสามารถประกาศผลการประมูลเสร็จได้ภายในเดือน ม.ค. 2562 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีประมาณกลางเดือน ม.ค.และลงนามสัญญาไม่เกินวันที่ 31 ม.ค.2562

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่จะตัดสินผลประมูลนั้นจะอยู่ที่เงื่อนไขการพิจารณาคือ 1.การเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด โดยห้ามเกิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นพบว่าทั้ง 2 กลุ่มบริษัทไม่ได้เสนอของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเกินกรอบที่กำหนดไว้ และ 2.การเสนอผลตอบแทนตลอดโครงการให้รัฐบาลมากที่สุด โดยจะดูที่ตัวเลขบรรทัดสุดท้าย (Net Value)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง