ปรับแผนระบายน้ำ "เขื่อนรัชชประภา" เฝ้าระวังฝนภาคใต้ 1-2 วันนี้

ภัยพิบัติ
18 ธ.ค. 61
15:53
636
Logo Thai PBS
ปรับแผนระบายน้ำ "เขื่อนรัชชประภา" เฝ้าระวังฝนภาคใต้ 1-2 วันนี้
นายกรัฐมนตรี กำชับทุกหน่วยงานลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ ส่ง" ฉัตรชัย" ลงพื้นที่ ส่วน สทนช.เฝ้าระวัง 3 จังหวัด นครศรีธรรมราช –สุราษฏร์ธานี - ตรัง เหตุน้ำยังปริ่มตลิ่ง ประสาน กฟผ.ปรับลดการระบายเขื่อนรัชชประภา บรรเทาผลกระทบจากฝนที่ตกในพื้นที่

วันนี้ (18 ธ.ค.2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้อย่างบูรณาการ ซึ่งได้รับรายงานว่ามีฝนตกติดต่อกันเกินกว่า 24 ชั่วโมง เกินกว่าระบบระบายน้ำจะรับได้ ต้องเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด และสั่งการให้แก้ปัญหาด้านคมนาคม เพราะรถไฟหลายสายหยุดวิ่ง

ขณะนี้มี 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบโดยมอบหมายให้พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปดูเรื่องแผนการแก้ปัญหา ซึ่งรัฐบาลมีแผนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  

นอกจากนี้ ยังกำชับให้ดูแลผลกระทบในภาคการเกษตร พร้อมเร่งสำรวจ และเตรียมจัดงบประมาณ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าฝนตกนอกฤดูบ้าง ภาคใต้ตกมากที่สุด แต่ถ้ามากอย่างนี้จะมีปัญหาต่อไป 

 

 

ฝนภาคใต้ยังตกต่อเนื่อง 1-2 วันนี้ 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังฝนตกหนักบางแห่งใน 12 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจ.สตูล โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนหนักถึงหนักมาก 2 จังหวัดได้แก่ จ.นราธิวาส อ.เมือง 91.7 มม. ขณะที่จ.นครศรีธรรมราช อ.สิชล 61 มม. และอ.เมือง 59.5 มม. 

แต่จากปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้ ส่งผลให้น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง พื้นที่ได้รับผลกระทบ 31 อำเภอ 157 ตำบล 847 หมู่บ้าน โดยใน 1-2 วันนี้ ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสมอาจส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง

 

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

นอกจากนี้แม่น้ำสายสำคัญระดับอยู่ในระดับวิกฤติต้องเฝ้าระวังพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช คลองท่าดี อ.เมือง คลองกลาย อ.ท่าศาลา และคลองท่าเลา อ.ทุ่งสง จ.ตรัง แม่น้ำตรัง บริเวณ อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ และอ.ห้วยยอด และจ.สุราษฎร์ธานี แม่น้ำตาปี บริเวณ อ.พระแสง-เวียงสระ และคลองกระแดะ บริเวณ อ.กาญจนดิษฐ์ 

อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้ติดตามสภาพอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ของความจุที่ต้องเฝ้าระวังในภาคใต้ แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ แก่งกระจาน คิดเป็น 87% น้ำไหลเข้าวันละ 1.20 ล้าน ลบ.ม.ระบายออก 1.04 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนปราณบุรี 90% น้ำไหลเข้าวันละ 0.67 ล้าน ลบ.ม. ออก 0.25 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนรัชชประภา 84% น้ำไหลเข้าวันละ 11.98 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 5.06 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16 แห่ง

เบื้องต้นประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนรัชชประภา เพื่อป้องกันความเสี่ยงน้ำที่อาจเพิ่มบริเวณ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จากแม่น้ำตาปี พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งกำชับทุกหน่วยงาน การเตรียมแผนบรรเทาผลกระทบโดยแจ้งเตือนประชาชนพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความจุของอ่างเก็บน้ำ และสภาพด้านท้ายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ และพร้อมสำหรับช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา "ภาคใต้" เสี่ยงเจอฝนตกระลอกใหม่ปลาย ธ.ค.นี้

น้ำท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มคลี่คลาย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง