วงเสวนาสื่อห่วงข่าวลวงทะลักโซเชียลช่วงเลือกตั้ง

สังคม
18 ธ.ค. 61
18:45
304
Logo Thai PBS
วงเสวนาสื่อห่วงข่าวลวงทะลักโซเชียลช่วงเลือกตั้ง
วงเสวนาสื่อห่วงข่าวลือ ข่าวลวง ทะลักเข้าสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมตั้งองค์กรกลางดึงความร่วมมือสื่อช่วยตรวจสอบข้อมูล และผลักดันให้พรรคการเมืองทำตามนโยบายที่หาเสียงช่วงเลือกตั้ง นักวิชาการชี้สื่อควรเน้นรายงานวิเคราะห์นโยบายมากกว่าตัวบุคคล

วันนี้ (18 ธ.ค.61) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน Media Forum ครั้งที่ 6 "บทบาทสื่อและการรับมือสงครามข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง" โดยมีนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชน ร่วมหารือและแสดงความเห็น โดยเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์จะมีบทบาทในการเลือกตั้งที่จะถึงในครั้งนี้มากขึ้น และควรเฝ้าระวังข่าวลือ ข่าวลวง ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งสื่อควรร่วมมือกันหรือมีองค์กรกลางทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

 

ห่วง "ความสมดุล-ข่าวลวง"

ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หัวหน้าภาควิชาสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคย้ายตัวเองไปสื่อออนไลน์มากที่สุดในปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์จะมีบทบาทมา ขณะนี้มีเวลาประมาณ 2 เดือนจะถึงเลือกตั้ง ข้อมูลข่าวสารจะไหลเข้ามาเยอะมากและค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งตนเองค่อนข้างกังวลความสมดุลของข้อมูลข่าวสารซึ่งข้อมูลรอบตัว โดยเฉพาะข้อมูลจากฝั่งตรงข้ามที่อาจมีน้อยด้วยรูปแบบของสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กจะแสดงข้อมูลในความสนใจเฉพาะกลุ่ม หรือ ข้อมูลข่าวสารลวงที่อาจจะเข้ามาค่อนข้างเยอะ ดังที่พบเห็นใน การเลือกตั้งสหรัฐฯ หรือในญี่ปุ่นในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งจะมีข่าวลวง และข่าวลือเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเมื่อเข้ามาก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการแก้ไขได้ทันท่วงทีหรือไม่


ในช่วงการเลือกตั้งค่อนข้างอ่อนไหวจะทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารสมดุล ข้อมูลผู้ลงสมัครทุกคนควรที่จะได้รับการรับรู้เท่าๆ กันในช่วง 2 เดือนที่จะถึงวันเลือกตั้ง



กกต.พร้อมเปิดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์ “หาเสียง”


ด้าน ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้ไม่กังวลการทำหน้าที่ของสื่อมืออาชีพมากนัก เนื่องจากมีการตรวจสอบหรือวิเคราะห์จากข้อเท็จจริง แต่สื่อไม่มืออาชีพเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการรวบรวมข้อมูลจากสื่ออื่นและเผยแพร่โดยอาจขาดการตรวจสอบ


ขณะที่การดูแลสื่อออนไลน์ ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.นั้นอนุญาตให้หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ได้โดยเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะเปิดพื้นที่สีขาวให้พรรคการเมืองมาใช้พื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายด้วย

 



หวังแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กสม.) กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนระบบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะจากโครงสร้างที่กำหนด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญ คือ การเปลี่ยนผ่านที่มีอำนาจนิยมหรือระบบเผด็จการควบคุมการเมือง

สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งประชาชนต้องการรับรู้ว่า 4 – 5 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองที่นักการเมืองถูกสาดโคลนว่าเป็นผู้ที่ทุจริตโกงบ้านโกงเมืองแต่ไม่ได้มองว่า เข้ามาจัดสรรประโยชน์สาธารณะหรือความเหลื่อมล้ำในกติกาที่มาซึ่งความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง

สถานการณ์ดังกล่าวต้องนำไปสู่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของชาติ มากกว่าประโยชน์ของตัวบุคคล หรือการสร้างความเกลียดชัง ปลุกระดม สร้างความเป็นฝักฝ่าย ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสรี

สื่อควรเน้นนโยบายพรรคการเมือง

ด้านนางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) กล่าวว่า ช่วงของการรณรงค์เลือกตั้งจะเป็นช่วงที่มีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น และจะมากไปจนถึงช่วงของการเลือกตั้ง ซึ่งสื่อควรร่วมมือกันในการตรวจสอบข่าวลือ ข่าวลวง การโยนหินถามทาง ข้อเท็จจริง ซึ่งสื่อควรทำหน้าที่ตรวจสอบไปตั้งแต่ต้นจนถึงการนับคะแนน หลังการเลือกตั้ง การแจกใบแดง เพื่อสกัดกั้นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


นางสมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงของการเลือกตั้ง ในต่างประเทศการสาดโคลนจะค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียใต้และคาดว่าในไทยจะมีการรื้อฟื้นความขัดแย้งมาในอดีตใช้เช่นเหตุจลาจลปี 54 และอื่นๆ ซึ่งสื่อไม่ควรไปให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ เพราะหลังเลือกตั้งไม่ควรให้เกิดความขัดแย้ง เพราะการเลือกตั้งมีการสร้างความขัดแย้งในตัวของมันเองอยู่แล้วแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ปกติก็ตาม และตอนนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษเพราะฉะนั้นอย่าไปช่วยเขาโหมกระพือในเรื่องเหล่านี้หรือเรื่องในอดีต


สื่อควรเน้นเรื่องของอนาคตเรื่องของนโยบายเอามาเปรียบเทียบจะดีกว่าเพราะขณะนี้ยังไม่เห็นการเปรียบเทียบนโยบายจากสื่อเท่าใดนัก ควรคำนึงถึงนโยบายไม่ใช่ตัวบุคคล หรือการซื้อสิทธิขายเสียงเท่านั้น

 

กฎหมายคุมสื่อยังเยอะ


นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า เห็นด้วยกับ นพ.นิรันดร์ว่าประชาชนเฝ้ารอการเลือกตั้งครั้งนี้แต่ก็ไม่เห็นว่าจะนำไปสู่ทางออกของประเทศ และต้องการให้ทุกฝ่ายตรงกันเป็นพื้นฐานว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีทางเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ เนื่องจาก คสช.ควบคุมการเลือกตั้งไว้ทั้งหมด ผ่าน 3 บทบาท โดยเป็นผู้เขียนกติกาขึ้นเอง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก 10 ฉบับ ประกาศคำสั่ง 7-8 ฉบับโดยเฉพาะคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 จำนวน 3-4 ฉบับล่าสุด และ คสช.ก็เป็นผู้บังคับใช้กฎ กติกาเหล่านี้ และ คสช.ก็เป็นผู้แต่งตั้ง กกต.ผ่าน สนช.ผ่านมาตรา 44 ทำให้องค์กรเหล่านี้เป็นผู้ใช้กติกาที่ คสช.เขียนขึ้น ขณะที่ คสช.ก็ส่ง รัฐมนตรี 4 คน มาจัดตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งเอง


คนที่เขียนกฎกติกาเอง บังคับใช้กติกาเอง และลงสมัครรับเลือกตั้งเอง อยู่ในสนามเลือกตั้ง ก็ไม่มีทางที่จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ซึ่งก็แทบจะรู้แล้วว่าผลของการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร


หลังการเลือกตั้งก็จะมี ส.ว.จำนวน 250 คน และ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์อีก 150 คน ซึ่งมาจากสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ คสช.คิดขึ้น รวมแล้ว 400 คนก็มากกว่าครึ่งแล้ว และก็คาดการณ์ได้แล้ววว่าหลังการเลือกตั้งผลจะออกมาอย่างไร


ดังนั้นการที่จะบอกสื่อควรทำหน้าที่อย่างไรก็อาจไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันสักเท่าไหร่ เพราะสื่อในปัจจุบันยังอยู่ภายในใต้ประกาศ คสช.มาตรา 97 และ 103 สื่อยังคงไม่สามารถรายงานทุกอย่างได้ หากนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.ก็ไม่สามารถพูดผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ประกาศ คสช.ที่ 97 ให้สื่อต้องรายงานเนื้อหาทุกอย่างที่ คสช.ต้องการยังคงอยู่ และที่ผ่านมามีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ไปจำนวนหนึ่งจำนวน 9-10 ฉบับ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ถูกยกเลิก ทำให้เห็นว่าอำนาจบางอย่างยังคงอยู่โดยเฉพาะอำนาจในการควบคุมสื่อ และคำสั่ง 3/58 ถูกยกเลิกไป1 ข้อคือ ข้อ 12 การห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่อำนาจอื่นยังคงอยู่ เช่น การให้ทหารไปหาที่บ้านได้ จับกุมคนไปที่ค่ายทหารได้ ในช่วงเลือกตั้งซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นธรรม


ที่ต้องช่วยกันจับตาดู คือ หลักเกณฑ์ของ กกต.ทั้งการหาเสียง ป้ายหาเสียง นักการเมืองออกทีวีอย่างไร เมื่อไหร่ และสื่อออนไลน์นักการเมืองจะใช้ได้อย่างไร ซึ่งยังไม่เห็น คาดว่าต้นเดือนหน้าจะเห็น ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ต้องดูต่อไปว่าเป็นธรรมหรือไม่

แนะสื่อยึดหลัก “Free Fact Fair”

 

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช.กล่าวว่า สิ่งที่สื่อต้องยึดร่วมกันไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไรก็คือหลัก "Free Fact Fair" คือ มีความอิสระ อยู่บนข้อเท็จจริง และมีความเท่าเทียม รวมถึงยังต้องการสื่อทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อมูลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ฮับและตรวจสอบข่าวที่เข้ามาว่าจริงหรือไม่ ก็จะช่วยลดปัญหาข่าวลือได้


รวมถึงการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ เนื่องจากขณะนี้อาจตกเป็นเครื่องมือในทางการเมืองได้ เช่นในบราซิลมีการใช้แอพพลิเคชั่นวอทแอพส่งต่อข้อมูลจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในทางการเมือง ขณะที่ไทยในแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีผลเชิงลึกในเชิงจิตวิทยา ซึ่งต้องเรียกร้องความรับผิดชอบจากองค์กรเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้เห็นท่าทีแบบนี้ค่อนข้างน้อย 

 

 

สื่อตั้งองค์กรกลางตรวจสอบเลือกตั้ง


สอดคล้องกับ นายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำข่าวเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง พบว่า พรรคการเมืองมักจะหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะในรัฐบาลผสมก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายได้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย

 


ดังนั้นจึงต้องการให้สื่อร่วมกันตั้งคำถามว่า เพื่อให้พรรคการเมืองยืนยันที่จะดำเนินตามนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้อย่างน้อย 1-2 นโยบายเพื่อให้เกิดการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการวาระการเลือกตั้ง 62 โดยมีไทยพีบีเอสเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสื่อและองค์กรต่างๆ ตลอดจนนักวิจัย และนักวิชาการ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบรวมถึงวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย หรือ ภาระผูกพันทางการเงินในการดำเนินนโยบาย ทั้งแหล่งที่มาของเงินว่าจะเป็นภาระหรือไม่ หรือจะมีผลเสียด้านอื่นๆ หรือไม่ โดยต้องการให้เน้นทำหน้าที่ตรวจสอบมากกว่าการเน้นข่าวที่เป็นกระแสเหมือนที่ผ่านมา

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันเป็นทั้งผู้รักษาประตู และช่วยไม่ให้การใช้นโยบายของพรรคการเมืองที่เกินจริง และเป็นผู้ช่วยให้นโยบายถูกผลักดันให้เกิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง