ผลสำรวจชี้ แท็กซี่ "เข้าไม่ถึงแหล่งทุน - กู้เงินนอกระบบ"

เศรษฐกิจ
19 ธ.ค. 61
14:43
621
Logo Thai PBS
ผลสำรวจชี้ แท็กซี่ "เข้าไม่ถึงแหล่งทุน - กู้เงินนอกระบบ"
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ มีจำนวนกว่า 1.2 แสนคน ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ส่งผลแบกภาระหนี้สูง ระบุอยากมีรถเป็นของตัวเอง โดยได้รับบริการสินเชื่อในระบบดอกเบี้ยต่ำ เชื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้

วันนี้ ( 19 ธ.ค.61) ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจ “การประเมินศักยภาพธุรกิจท้องถิ่นของประเทศไทย” กรณีศึกษาธุรกิจบริการแท็กซี่ พบว่า ปัจจุบัน จากข้อมูลของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก คาดมีผู้ขับรถแท็กซี่ จากจำนวนใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ทั่วประเทศ 122,356 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ ร้อยละ 57.54 และส่วนภูมิภาคร้อยละ 42.46 โดยปัญหาของผู้ใช้บริการแท็กซี่ จากการรวบรวมเอกสารต่างๆ ได้แก่ 1.การปฏิเสธผู้โดยสาร 2.ความประมาทในการขับขี่ 3.ใช้เส้นทางอ้อมและไม่กดมิเตอร์ 4.พฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของพนักงานขับรถแท็กซี่ 5.แท็กซี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ 6.ความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ขับแท็กซี่

ส่วนปัญหาที่ผู้ขับรถแท็กซี่ประสบอยู่นั้น ได้แก่ 1.จำนวนชั่วโมงการขับรถขั้นต่ำต่อวันถึง 12 ชม. เพื่อจะมีรายได้อย่างน้อย 400 บาทต่อวัน 2.การจะประกอบอาชีพขับแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถต้องจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกและคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และมีสุขภาพแข็งแรง 3. ผู้ใช้บริการมองภาพลักษณ์แท็กซี่ไทยติดลบ 4.ระบบตัดแต้มคนขับ (Demerit Point System) 5.การเข้าถึงโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนทำให้ถูกแบ่งลูกค้า และ 6.มีรายจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 1,211 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคล (เขียว-เหลือง) ร้อยละ 38.18 และเช่าขับ (แท็กซี่นิติบุคคล) ร้อยละ 61.82 พบว่าร้อยละ 51.44 รถที่ใช้ขับอยู่ ยังไม่ใกล้หมดอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วนร้อยละ 48.56 รถที่ใช้ ใกล้หมดอายุใช้งาน 5 ปีแล้ว โดยผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ถึงร้อยละ 76.69 ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปจนถึงมากกว่า 20 ปี ส่วนที่ทำมาไม่เกิน 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 23.31 นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังทำงานหนัก ต้องขับรถหารายได้เฉลี่ยถึง 25 วันต่อเดือน โดยทำทั้งช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงกลางคืน และที่สำคัญ ยึดการขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพหลักถึงร้อยละ 87.98 ส่วนที่ทำเป็นอาชีพเสริมเพียงร้อยละ 12.02

กลุ่มตัวอย่าง เผยรายได้ก่อนหักรายจ่าย จากการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.27 อยู่ที่ 1,601-1,800 บาทต่อวัน ขณะที่รายได้ก่อนหักรายจ่าย เฉลี่ยอยู่ที่ 1,702.50 บาทต่อวัน โดยมีรายได้มากกว่ารายจ่ายร้อยละ 39.24 มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายร้อยละ 22.19 และมีรายได้เท่ารายจ่ายร้อยละ 38.57

ด้านสถานภาพของผู้ขับแท็กซี่ร้อยละ 58.02 มีการออมเป็นรายเดือน โดยเฉลี่ยเงินออมที่ 796.97 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 45.53 ออมได้ต่ำกว่า 500 บาท และ ร้อยละ 41.98 ไม่มีการออมเป็นรายเดือน ขณะที่ร้อยละ 47.36 บอกว่า ปัจจุบันไม่มีหนี้สิน แต่ที่น่าสนใจคือร้อยละ 47.02 ที่ระบุว่าไม่มีหนี้ ด้วยเหตุผลไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือการกู้ยืมได้ ส่วนกลุ่มที่บอกว่ามีหนี้สินร้อยละ 52.64 โดยแหล่งที่มาของหนี้สิน ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 46.10 เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว ส่วนร้อยละ 35.57 เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ ขณะที่เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 18.33 เท่านั้น

กลุ่มตัวอย่างเผยด้วยว่า มีภาระต้องผ่อนชำระเฉลี่ย 4,456.67 บาทต่อเดือน และเมื่อเปรียบเทียบภาระหนี้สินปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มที่ระบุว่ามีภาระหนี้เพิ่มขึ้น บอกสาเหตุ เช่น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลาน มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ มีรายได้ลดลง นำเงินไปเสริมสภาพคล่องในกิจการ และลงทุนซื้อรถแท็กซี่ เป็นต้น

ส่วนการผ่อนชำระในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.11 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย ส่วนร้อยละ 47.89 บอกว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะสาเหตุรายได้ไม่เพียงพอ ลืมไปชำระ จำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น และหมุนเงินไม่ทัน ตามลำดับ

เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ในการจะกู้เงินในอนาคต ได้แก่ ชำระหนี้เก่า ใช้จ่ายทั่วไป ลงทุนประกอบอาชีพ จ่ายบัตรเครดิต จ่ายค่าการศึกษาบุตรหลาน นำไปเสริมสภาพคล่องธุรกิจ และซื้อรถแท็กซี่ ที่สำคัญกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 100 บอกว่า ต้องการกู้เงินในระบบ วงเงินที่ต้องการกู้เฉลี่ย 245,832.08 บาท ทว่า ความสามารถในการกู้เงินในระบบได้นั้นกลับมีเพียงร้อยละ 34.13 เท่านั้น ส่วนร้อยละ 65.87 ไม่สามารถกู้ในระบบได้ เนื่องจากเหตุผล ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเงิน ไม่มีหลักประกัน รายได้น้อย ไม่มีประวัติการชำระหนี้ โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้รับการอนุมัติจากธนาคาร และไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์การประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.70 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่เอง ส่วนร้อยละ 40.30 ที่เป็นเจ้าของรถแท็กซี่เอง จำนวนร้อยละ 68.56 มีภาระต้องผ่อนชำระรถ เฉลี่ยเดือนละ 17,976.43 บาทต่อเดือน ขณะที่มีต้นทุนในการประกอบอาชีพเมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ประมาณ 41,582.31-47,156.14 บาทต่อเดือน ซึ่งจากต้นทุนการประกอบอาชีพที่สูงดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 72.83 จึงบอกว่า อัตราค่าโดยสารมิเตอร์ที่เริ่มต้น 35 บาท ไม่เหมาะสม โดยอัตราที่เห็นว่าเหมาะสม เฉลี่ยอยู่ที่ 48.35 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 70.45 บอกว่า ต้องการมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง โดยให้เหตุผลว่า สะดวกต่อการใช้งาน คุ้มกว่าการเช่ารถ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า จัดสรรเวลาทำงานได้ เป็นต้น โดยเงินทุนที่ต้องการนำไปลงทุนซื้อรถแท็กซี่ เฉลี่ยที่ 416,726.68 บาท

เมื่อถามว่า หากภาครัฐมีการจัดทำโครงการให้สินเชื่อเพื่อซื้อรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.91 ระบุว่า สนใจเข้าร่วม เพราะอัตราการผ่อนชำระไม่สูง ดอกเบี้ยไม่แพง จะได้มีรถเป็นของตัวเอง และไม่ต้องเครียดในการหาค่าเช่ารถ ขณะที่ร้อยละ 16.24 บอกว่าไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 26.85 ระบุว่า ไม่เข้าร่วม เพราะไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม คิดว่าขั้นตอนยุ่งยาก คิดว่าขอไปก็ไม่ได้อยู่ดี ไม่รู้ข่าวสาร และคิดว่า ไม่น่าจะมีโครงการลักษณะนี้จริง นอกจากนั้น เมื่อถามเสริมว่า หากธนาคารของรัฐ มีโครงการให้ผ่อนค่ารถแท็กซี่เป็นรายวันเท่ากับค่าเช่ารถแท็กซี่ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.78 สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยสามารถผ่อนได้ตั้งแต่ต่ำสุด 593.18 บาทต่อวัน ถึงสูงสุด 894.53 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยที่ 623.57 บาทต่อวัน

กลุ่มตัวอย่างบอกด้วยว่า หากมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาลดภาระหนี้สินได้ในระดับมากร้อยละ 79.12 ช่วยลดต้นทุนค่าเช่ารถแท็กซี่ ได้ในระดับมากร้อยละ 76.82 และช่วยเพิ่มรายได้ในระดับมากร้อยละ 66.35 รวมถึง เมื่อมีรถเป็นของตัวเอง ยังช่วยแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ไม่ต้องรีบส่งรถ สภาพรถจะได้รับดูแลดีขึ้นเพราะเป็นรถตัวเอง ผู้โดยสารไม่ถูกส่งลงก่อนถึงที่หมาย ไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่ต้องขับรถเร็วเพื่อเร่งทำเวลา เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างต้องการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.เพิ่มอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 2.ช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สิน 3.ปรับหรือลดราคาค่าแก๊ส 4.ดูแลระดับราคาค่าเช่าให้เหมาะสม 5.กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการบริโภคและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และ 6.ปรับหรือลดอัตราภาษีให้เหมาะสม ส่วนข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank ได้แก่ 1.ช่วยเหลือในการกู้เงินหรือขอสินเชื่อ 2.ลดขั้นตอน/เงื่อนไขในการกู้เงิน 3.ไม่ต้องมีคนหรือหลักทรัพย์มาค้ำประกัน 4.ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ 5.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้หลากหลายและเข้าถึงความต้องการของธุรกิจหรืออาชีพ

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ประมาณ 1.2 แสนราย ยังเกี่ยวข้องไปถึงบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านคนต่อวัน รวมถึง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย มากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ดังนั้น บริการของแท็กซี่จึงมีความสำคัญ และควรยกระดับมาตรฐานด้านบริการ คุณภาพรถ และความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น รวมถึง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ และการท่องเที่ยวไทย

นอกจากนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพอิสระ ควรต้องได้รับการดูแล เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ต้องทำงานหนัก แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ และส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสถานการณ์ที่ ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาต้องพึ่งการใช้เงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ทำให้มีภาระในการประกอบอาชีพสูง ไม่ว่าจะเป็นต้องจ่ายค่าเช่ารถ หรือต้องผ่อนรถในอัตราดอกเบี้ยสูง เพราะเป็นเงินกู้นอกระบบ ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ส่วนใหญ่จึงมีความต้องการจะมีรถเป็นของตัวเอง โดยเจาะจงต้องเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะมั่นใจว่า จะช่วยลดภาระหนี้สิน และเพิ่มรายได้ในการประกอบอาชีพ รวมถึง ยังส่งผลดีไปถึงด้านงานบริการผู้โดยสารจะมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธพว. จะนำผลสำรวจ และข้อเสนอแนะต่างๆ จากกลุ่มตัวอย่าง ไปพัฒนามาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึง ขั้นตอนการให้บริการ เพื่อตอบความต้องการผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ รวมถึง กลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆ ได้อย่างดีที่สุดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง